ปภ.เตือน 13 จว. ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รับมือฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 — 8 ตุลาคม 56

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 13 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 4 — 8 ตุลาคม 2556 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก รวมถึงจัดกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์ประจำในพื้นที่เสี่ยง พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 4 — 8 ตุลาคม 2556 ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักบางพื้นที่ รวมถึงคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขาใน 13 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที หากระดับน้ำท่วมเพิ่มสูง ให้ขนย้ายสิ่งของ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง พร้อมเตรียมอพยพไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัย ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือระยะนี้ไว้ด้วย นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.ได้ประสาน 13 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยง เช่น ที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เขตเศรษฐกิจและชุมชน เป็นต้น พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนเตรียมพร้อมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กรณีสถานการณ์ภัยรุนแรง จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับรองรับการอพยพของผู้ประสบภัย เน้นให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ