กรุงเทพ--16 ธ.ค.--สศช.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้การต้อนรับและร่วมหารือเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนกับ นายเฉิ่น จิ่น หัว มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการวางแผนแห่งชาติจีน (State Planning Commission-SPC) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงในโอกาสเยือนสศช.
ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช.ได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในตอนหนึ่งว่า เมื่อมองย้อนหลังไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยในช่วงระยะ 50 ปีก่อน การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต้องถึงพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสินค้า ข้าว ไม้สัก ดีบุก ยางพารา เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ อุตสาหกรรมที่มีส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการแปรรูปสินค้า โดยมีโรงสีข้าวและโรงเลื่อยเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยกว่าร้อยละ 7 ต่อปี และผลของเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่า 17 เท่าตัว และถ้าเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มจากประมาณ 1,600 บาท ในปี 2489 เป็น 78,000 บาท ในปี 2539 ในขณะที่จำนวนของประชากรของไทยได้เพิ่มขึ้นจาก 17 ล้านคน ในปี 2489 เป็น 60 ล้านคนในปัจจุบัน
นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ผ่านมานั้น จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่รัฐบาลก็ตระหนักว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้หมายความถึงการพัฒนาที่มีคุณภาพ ตราบใดที่กิจกรรมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนในเมืองและคนชนบทยังห่างกันมาก ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 อันเป็นแผนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาของการพัฒนาที่ควรจะเป็นในอนาคต ทั้งนี้ได้มีการปรับแนวความคิดการพัฒนาจากเดิมที่เคยเน้นแต่การพัฒนาเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นการเน้นให้ "คน" เป็นศูนย์กลางหรือจุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนา โดยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น
ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช.ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนว่า ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อ พ.ศ. 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้พัฒนาไปด้วยความใกล้ชิด และเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่สอดคล้องกัน กระทั่งปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนได้พัฒนาไปสู่การร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี ทั้งในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค อาทิ โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย-แปซิฟิค (APEC) เป็นต้น ทั้งความร่วมมือดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกโดยรวมอีกด้วย
ในโอกาสเดียวกัน นายเฉิ่น จิ่น หัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงทั้งในรัฐบาลและพรรค และเป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงทั้งในรัฐบาลและพรรค และเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายทั้งการลงทุนจากต่างประเทศในจีน และการลงทุนของจีนในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติโครงการการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ จึงได้ให้ความสนใจในการวางแผนพัฒนาของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศทั้งสอง และได้กล่าวถึงการตกลงทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนว่ามูลค่าทางการค้า ในปี 2539 มีมูลค่ารวมถึง 95,657.5 ล้านบาท โดยจีนได้ซื้อสินค้าจากไทยเป็นจำนวนหลายรายประกอบด้วย ยางพารา ข้าว กุ้งสดแช่แข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาล เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบเหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรใช้อุตสาหกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศจีนได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งต่อนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในประเทศจีน กิจการนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในประเทศจีนได้กระจายอยู่ตามสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ กิจการอาหารสัตว์แบบครบวงจร ธุรกิจอาหารจานด่วน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การประกอบชิ้นส่วนเครื่องจักรรถยนต์และจักรยานยต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมบริการ เช่น ธนาคาร โรงแรม สถานีบริการน้ำมันและการร่วมลงทุนในการค้าอสังหาริมทรัพย์
ผู้ทรงคุณวุฒิ สศช. ยังได้กล่าวแสดงความขอบคุณที่จีนได้ให้การสนับสนุนต่อนักลงทุนไทยจนประสบความสำเร็จในหลายโครงการ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ได้รับความสำเร็จดังกล่าวนั้นเนื่องจากนักลงทุนไทยได้ยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ 1) มีผู้ร่วมทุนที่ดี 2) เลือกทำเลที่เหมาะสม 3) มุ่งเน้นความร่วมมือในระยะยางมากกว่าแสวงหากำไรระยะสั้น 4) มีการนำเทคโนโลยีเข้าไป และ 5) ยึดหลักมิตรภาพและบุญคุณ
นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ ได้กล่าวในตอนท้ายว่าไทยยินดีให้ความร่วมมือต่อนักลงทุนของจีนในด้านการปรับปรุงชัดเจนของกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ และได้ให้ความสำคัญต่อการบริการข้อมูลที่ทันสมัย ซึ่งโครงการลงทุนจากจีนในประเทศไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสนองตอบตลาดในประเทศไทย ซึ่งเชื่อแน่ว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยจะได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นในอนาคต--จบ--