กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันนี้ (2 ต.ค. 56) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "รถไฟความเร็วสูงกับรถไฟรางคู่ในความคิดของคนอีสาน” โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานแนะให้ใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย เสนอรัฐลงทุนร่วมเอกชนสร้างรถไฟความเร็วสูง และอยากได้รถไฟรางคู่ทุกจังหวัดก่อนรถไฟความเร็วสูง
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
เมื่อถามความเห็นว่า การใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควรผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย เพื่อรักษาวินัยทางการคลังตามที่ฝ่ายค้านเสนอหรือไม่ จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.5 เห็นว่าว่าควรผ่านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย รองลงมาร้อยละ 37.9 ตอบว่า ไม่แน่ใจ และมีเพียงร้อยละ17.6 เห็นว่า ไม่ต้องผ่าน
อีสานโพล ได้สอบถามต่อว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลควรลงทุนเองหมด หรือร่วมทุนกับเอกชน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 60.4 เห็นว่าว่ารัฐควรร่วมทุนกับเอกชน ขณะที่อีกร้อยละ 39.6 เห็นว่ารัฐควรลงทุนเองทั้งหมด
นอกจากนี้เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วนำงบมาสร้างรถไฟรางคู่ทุกจังหวัดแทนก่อน กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งร้อยละ 52.0 เห็นด้วยที่จะเน้นสร้างรถไฟรางคู่ให้ครอบคลุมก่อนก่อน รองลงมาร้อยละ 32.7 ตอบว่าไม่แน่ใจ และมีเพียงร้อยละ 15.3 ที่ไม่เห็นด้วย
"จากผลสำรวจก่อนหน้านี้จะพบว่าประชาชนอยากให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจครั้งนี้จะเห็นว่า คนอีสานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลใช้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทอย่างรอบครอบโดยใช้งบผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ทุกปี นอกจากนี้คนอีสานส่วนใหญ่ยังอยากให้รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในการสร้างรถไฟความเร็วสูง แทนที่จะลงทุนทำเองทั้งหมด เพื่อที่จะได้มีงบประมาณเพียงพอในการลงทุนสร้างรถไฟรางคู่ให้ครอบคลุมเชื่อมโยงทุกจังหวัด" ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย