กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
ครั้งแรกของโลก “ศาสตราจารย์สตีเฟ่น บี ยัง” ประมวลพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามหลักทศพิธราชธรรม อันก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของคนในสังคมออกมาเป็นหนังสือ King by Virtue มอบให้ผู้ร่วมประชุมระดับโลก “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” ที่เมืองไทย ชี้ธรรมะของราชา ยิ่งใหญ่จนเป็นปรัชญาที่ทั่วโลกยอมรับ พร้อมระบุหากยึดเป็นแนวทางพัฒนาชาติ จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นหล่มของปัญหาในปัจจุบัน
สตีเฟ่น บี ยัง ผู้อำนวยการ Caux Round Table (เครือข่ายระหว่างประเทศของผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่รวมตัวกันเพื่อนำเสนอหลักการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน www.cauxroundtable.org) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก และผู้ค้นพบแหล่งอารยธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ในมุมของชาวต่างประเทศ อาจมองประเทศไทยด้วยความไม่เข้าใจในหลายประการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย 6-7 ปีที่ผ่านมา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่สื่อตะวันตกนำเสนอในมุมมองและแนวคิดตามแบบอย่างตะวันตก แต่ไม่สอดคล้องกับบริบทของเมืองไทย จึงทำให้ชาวตะวันตกเกิดคำถามต่างๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการที่ตนศึกษาสภาพสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ได้ตระหนักถึงสิ่งสำคัญที่สุดว่า คนไทยโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ที่ทรงงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างทุ่มเท ทรงทำให้ความไม่สมดุลต่างๆ ในสังคมไทยลดลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ทรงเป็นผู้นำที่สำคัญและเป็นแบบอย่างที่ชาวโลกควรได้ศึกษา และน้อมนำหลักคิดหลักปฏิบัติของพระองค์มาปรับใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการปฏิบัติงานต่าง ๆ ตามหลักทศพิธราชธรรม และการคิด การตัดสินใจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยโชคดีมากที่ “ในหลวง” ทรงยึดพระราชจริยวัตร อันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง เรียกว่า ทศพิธราชธรรม หรือคุณธรรมของพระราชา 10 ประการ
ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น บี ยัง ระบุต่อว่า เห็นได้ชัดจากเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่ตนเข้ามาศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พบว่าสภาพสังคมในขณะนั้นเกิดความแร้นแค้น แต่ประเทศไทยก็มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เป็นแบบอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งชี้แนะแนวทางในการพัฒนาประเทศแก่ผู้บริหารเพื่อให้ประเทศสามารถ ยืนหยัดอยู่ในกระแสบริโภคนิยมและทุนนิยม หากผู้นำของไทยและทั่วโลกได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและได้ศึกษาแบบอย่างที่ดีจากพระราชกรณียกิจของพระองค์ ย่อมจะมั่นใจได้ว่าประเทศไทยและประเทศต่างๆ จะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนซึ่งทำให้เกิดประโยชน์และสร้างความสุขในสังคมได้อย่างชัดเจน
“ที่สำคัญที่สุด คนไทยต้องภูมิใจที่ทั้งแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลักธรรม 10 ประการนี้ ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทั้งสองแนวทางสอดรับประสานกันจนสร้างความสำเร็จได้อย่างไร ทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา การทำให้ปวงประชามีความสุข และการทำให้สังคมโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดแล้วว่า เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างตลอดไป” ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น ระบุ
นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ในโอกาสที่จะมีการประชุมระดับโลก “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ตนได้จัดเตรียมหนังสือ King By Virtue ที่ได้จัดทำร่วมทำกับ ริชาร์ด บรอเดริค ซึ่งในหนังสือประมวลให้เห็นว่า การดำเนินการต่างๆ ตามหลักทศพิธราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล อันนำไปสู่ความสุขของคนและความยั่งยืนของสังคม โดยจะเผยแพร่เป็นครั้งแรกในโลกในการประชุมครั้งนี้ เป็นหนังสือที่มอบให้กับผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน โดยหวังว่าแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทศพิธราชธรรม จะเป็นแนวทางที่ทั้งโลกยอมรับและร่วมกันดำเนินตาม เพื่อสร้างสังคมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด และประเทศไทยเองหากยึดมั่นในแนวทางนี้ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปในที่สุด
ขณะที่ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา คณะกรรมการการจัดประชุมฯ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า นอกจากสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้แล้ว ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น บี ยัง ได้มีการนำหลักทศพิธราชธรรม ไปทดลองใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในระดับรากหญ้า ที่ชุมชนดงสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ภาคประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการจัดการตนเอง ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า การกระตุ้นให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนตามหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นหลักของผู้นำ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของไทย เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และลดปัญหาการกระทำอันมิชอบของข้าราชการได้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในการประชุมที่จะจัดขึ้นนี้จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้พัฒนาตัวชี้วัดการดำเนินงานของภาคธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาความสัมพันธ์ของการดำเนินงานกับผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพบว่าบริษัทที่ดำเนินงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสูง จะมีผลประกอบการทางการเงินที่ดีกว่าบริษัทที่ดำเนินงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่ำ
“การจัดงานครั้งนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญมาก ที่ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น บี ยัง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี จะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้แนวคิด พร้อมจุดประกายให้คนไทยสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป” ดร.ปรียานุชกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการประชุม “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” โดย Caux Round Table ร่วมกับ หอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของจริยธรรมสังคม จัดขึ้นที่ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง จากหลายองค์กร ตลอดจนนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ สื่อมวลชน กว่า 1,000 คน โดยคาดว่า จะสามารถสร้างความเชื่อมโยงในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักทศพิธราชธรรม มาใช้ในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทั่วโลกสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฎิบัติ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และวัดผลได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดการประชุมได้ที่ www.SDglobaldialogue.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร. 02 787-7168-9