กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ม.มหิดล
ภาวะข้อเท้าตก เป็นอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระดกข้อเท้าขึ้นจากความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ไม่สามารถสั่งการให้กระดกข้อเท้าขึ้นตามต้องการได้ สามารถเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติของทั้งระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ซึ่งโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกบริเวณสมองและไขสันหลัง และโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทไขสันหลัง และโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System ) ได้แก่ โรคปลายประสาทอักเสบ และการบาดเจ็บของเส้นประสาท เช่นโรคเบาหวาน กระดูกเข่าหักกดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการสั่งการบริเวณข้อเท้า ทำให้เกิดภาวะข้อเท้าตกตามมา
ภาวะข้อเท้าตกจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ถูกวิธี ได้แก่ การช่วยขยับข้อเท้า และการออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ ภาวะข้อเท้าติด และภาวะกล้ามเนื้อหดรั้งได้ โดยในปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้ความสนใจใช้เครื่องช่วยขยับข้อเท้าแบบต่อเนื่อง (Continuous passive movement) ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเท้าตกมากขึ้น จึงมีนักวิจัยสนใจประดิษฐ์เครื่องช่วยขยับข้อเท้าเพื่อช่วยในการขยับข้อเท้าในหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ดูแลในการช่วยขยับข้อเท้าแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเท้าตก
นางสาว นิดา วงศ์สวัสดิ์ นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก นายกิตติชัย ทราวดีพิมุข, นายสิทธิชัย เอี่ยมเพช็ร และ นางสาวลัฐิกา เตี๋ยวงษ์สุวรรณ์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตก ผลงานสิทธิบัตรทุนสนับสนุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการประดิษฐ์ เพื่อการฟื้นฟูและป้องกันภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากมีภาวะข้อเท้าตก เช่น ภาวะข้อเท้าติด และภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักการ Passive movement ซึ่งอุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้านี้ใช้ข้อเท้าข้างที่แข็งแรงเป็นตัวช่วยขยับข้อเท้าข้างที่อ่อนแรง ทำให้ผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตกสามารถช่วยขยับข้อเท้าด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยการช่วยขยับข้อเท้าให้จากผู้อื่น อุปกรณ์ได้ออกแบบให้สามารถใช้ได้ง่าย ผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตกสามารถนำอุปกรณ์ไปช่วยขยับข้อเท้าที่บ้านได้ เพื่อการฟื้นฟูและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ถูกต้องและสามารถทำได้ทุกวัน
อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตก สามารถปรับมุมการเคลื่อนไหวได้ตามความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีภาวะข้อเท้าตกจริงในทุกๆ ๑ องศา ใช้ได้ทั้งในท่านั่งและท่านอน ในทุกสภาพแวดล้อม โดยสามารถเลือกการตอบสนองกลับในกรณีที่ช่วยขยับข้อเท้าถึงมุมที่กำหนดได้ ๒ รูปแบบ ทั้งเสียงและแสง นอกจากนี้อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกับเกมคอมพิวเตอร์ Virtual- Reality ซึ่งเป็นเกมเสมือนจริง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าและสามารถควบคุมในเรื่องความเร็วในการช่วยขยับข้อเท้าได้ โดยได้มีการทดลองใช้กับผู้ป่วยที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าได้ผลดี ซึ่งหลังจากใช้อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้า ผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อข้อเท้าหดเกร็งลดลงตามลำดับ
นางสาว นิดา วงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยพบว่าอุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้าที่ใช้อยู่ส่วนมากเป็นอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากและวิธีการใช้ซับซ้อนซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเท้าตกไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์และใช้ได้เองตามลำพัง การดูแลรักษาอุปกรณ์ค่อนข้างยาก และมีราคาแพงมากทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยตามบ้านได้ ส่วนใหญ่มีใช้เฉพาะตามคลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูขนาดใหญ่เท่านั้น อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้นอกจากช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถติดตั้งใช้เองที่บ้าน สามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อข้อเท้าให้มีอาการหดเกร็งลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ติดต่อ:
ปชส.มหิดล โทร.0-2849-6208-10