กรมวิทย์ฯ จับมือญี่ปุ่นต้านโรคสครับไทฟัส

ข่าวทั่วไป Monday October 6, 1997 18:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--6 ต.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ SEAMIC/IMFJ (Southeast Asian Medical Information Center and International Medical Foundation of Japan) จัดฝึกอบรมเรื่อง "การตรวจวินิจฉัยโรคสครับไทฟัสทางห้องปฏิบัติการ" เพื่อพัฒนาบุคลากรทางห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ในด้านการตรวจวินิจฉัยโรคสครับไทฟัส ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม 2540 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคสครับไทฟัส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Rickettsia tsutsugamushi ซึ่งพบได้ทั่วไปในบริเวณตะวันออกไกล เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนใต้ของเอเซีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีไรอ่อน (Chigger) เป็นพาหะนำโรค ปกติเป็นโรคของสัตว์ฟันแทะประเภทหนู กระรอกและกระแต สำหรับคนจะได้รับเชื้อนี้โดยถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ภายหลังจากที่ได้รับเชื้อ 5-14 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ หนาวสั่น เพลีย เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ท้องผูก ตาแดง กลัวแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจมีอาการทางสมอง หูตึง กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน ไม่รู้สึกตัว บางรายอาจถึงขึ้นโคม่า และหัวใจวายตายได้ ในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยครั้งแรกที่จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2495 หลังจากนั้นมีรายงานพบประปรายทั่วประเทศ และมีอัตราการป่วยเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันทุกปี โดยเฉลี่ย 1,312 รายต่อปี สำหรับในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักพบในจังหวัด เลย สกลนคร มุกดาหาร อุบลราชธานี และนครราชสีมา จากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในกลุ่มผู้ป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ พบว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคสครับไทฟัส ถึงร้อยละ 9.7 ซึ่งในแตะละปีมีรายงานผู้ป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 2-3 แสนราย แสดงว่า อาจมีผู้ป่วยด้วยโรคสครับไทฟัสที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแฝงอยู่ในผู้ป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุถึง 19,000-29,000 รายต่อปี
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า เนื่องจากโรคสครับไทฟัสยังเป็นโรคติดเชื้อโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรงนี้มาตลอด โดยในปี พ.ศ.2539 ได้จัดฝึกอบรมการตรวจวินิจฉัยโรคสครับไทฟัสทางห้องปฏิบัติการ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในเขตภาคใต้ไปแล้ว และในปีนี้ทาง SEAMIC/IMFJ ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรงสครับไทฟัสให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 หน่วยงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากรร่วมกับฝ่ายไทย ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์นำผลการตรวจวินิจฉัยไปวางแผนการรักษาผู้ป่วย เฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่ผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก็จะสามารถประสานความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของห้องปฏิบัติการแต่ละระดับ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.5910203-14 ต่อ 9017, 9081 โทรสาร 5911707 มือถือ 01-9047721--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ