กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 103.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 105.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 1.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 113.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- พายุโซนร้อน Karen พัดผ่านบริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบราว 20% ของสหรัฐฯ และก๊าซธรรมชาติอีกราว 6% แม้ว่าจะมิได้ยกระดับความเร็วลมขึ้นเป็นเฮอริเคนแต่ยังคงทำให้บริษัทน้ำมันหลายแห่งอพยพคนงานออกจากพื้นที่ เบื้องต้นประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก ณ วันศุกร์ที่ 4 ต.ค. 56 ลดลงไปประมาณ 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือกว่าครึ่ง
- Reuters รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศ OPEC เดือน ก.ย. 56 ลดลง 250,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 30.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
- กระทรวงน้ำมันของอิรักเปิดเผยว่ายอดส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 56 ลดลง 509,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดตั้งแต่ต้นปี 56 โดยมีสาเหตุหลักจากการปิดซ่อมบำรุงท่าส่งออก Basrah ทางตอนใต้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม การปิดซ่อมบำรุงเพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งออกให้ขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 MMBD คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน ต.ค. 56
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- การ Shutdown ของรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เนื่องจากสภาล่าง (พรรค Republican ครองเสียงข้างมาก) กับสภาสูง (พรรค Democrat ครองเสียงข้างมาก) ต่างไม่ยอมอ่อนข้อในจุดยืนต่อประเด็นการเลื่อนกฎหมายประกันสุขภาพของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงการแจกจ่ายงบประมาณไปยังส่วนต่างๆ ได้ส่งผลให้ข้าราชการประมาณ 8 แสนคน - 1 ล้านคน ต้องหยุดงาน ซึ่งมีการประมาณการกันว่าการหยุดงานของหน่วยงานรัฐจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
- ในเอเชีย ความต้องการใช้น้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากการเตรียมปรับเพิ่มภาษีขายของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 40 จากระดับ 5% มาอยู่ที่ระดับ 8% ในเดือนเม.ย. 57 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในเดือน ต.ค. 57 หากนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. 56 เพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 363.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เกือบแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการผ่านกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะในวันที่ 17 ต.ค. 56 ซึ่งหากไม่มีมติให้กู้เพิ่ม จะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ และตามมาด้วยการถูกลด Credit Rating ของสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงมากกว่าการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ หลายเท่าตัว หากเกิดความสั่นคลอนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงของตลาดการเงินโลกโดยทั่วกัน ทั้งนี้ สหรัฐประสบปัญหาชนเพดานหนี้ (16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาตั้งแต่เดือน พ.ค. 56 แล้ว แต่ใช้มาตรการหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อแก้ขัดไปก่อน โดยปัจจุบันสหรัฐฯ มีวงเงินในบัญชีเหลืออยู่เพียง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ล่าสุด นาย จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานจะไม่ขยายเพดานหนี้ หากนาย บารัค โอบามา ไม่ยอมเลื่อนเวลาโอบามาแคร์ออกไป 1 ปี
ความวิตกดังกล่าวน่าจะมีอิทธิพลในทางลบต่อราคาน้ำมันในระยะ 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ประกอบกับอุปทานจากอิรักที่เพิ่มขึ้นจากท่าส่งออก Basrah ที่คาดว่าจะกลับมาดำเนินการภายในเดือน ต.ค. 56 นี้ ส่วนกรอบราคาน้ำมันดิบ Brent ในสัปดาห์นี้ มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 107-110.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน WTI อยู่ที่ 102.5-105.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ที่ 103.5-107 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง เนื่องจากประเมินว่าผู้นำเข้าเบนซินรายใหญ่ในเอเชียอย่างอินโดนีเซียจะนำเข้าสำหรับเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่า 12 ล้านบาร์เรลในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 56 ประกอบกับการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการใช้เบนซินลดลง
ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112-115.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนำเข้าจากอินโดนีเซียเพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงวันหยุด Eid al-Adha (Idul Adha) และการนำเข้าจากเคนยาเพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากฝนน้อยในหน้าแล้ง
ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 121-124.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล