แถลงผลการดำเนินงาน 1 ปี กับการเฝ้าระวังตรวจสอบการทุจริตจากโครงการหมาเฝ้าบ้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 8, 2013 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักป้องกันการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชน ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดแถลงผลการดำเนินงาน 1 ปี กับการเฝ้าระวังตรวจสอบการทุจริตในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของสมาชิกอาสาสมัครโครงการหมาเฝ้าบ้าน ในวันจันทร์ ที่ 30 กันยายน 2556 เวลา 09.00 น. ณ ห้องนนทบุรี 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงเช้าจัดกิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง"การแบ่งปันประสบการณ์ 1 ปี กับการเฝ้าระวังตรวจสอบการทุจริตของเครือข่ายหมาเฝ้าบ้าน"โดย มีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิสรา นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และนายชาญชัย คุ้มปัญญา อาสาสมัครโครงการหมาเฝ้าบ้าน เข้าร่วมอภิปราย และนางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทุกคนหันมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเครือข่ายหมาเฝ้าบ้าน การต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องของคนไทยทั้งชาติ ที่ต้องร่วมมือกัน ซึ่งการใช้รูปสุนัขเป็นสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นว่า สุนัขพร้อมที่จะกัดและขย้ำโจรที่จ้องจะเข้ามาขโมยทรัพย์สินในบ้าน คำว่า "หมาเฝ้าบ้าน" จึงเป็นคำที่มีความหมายกินใจ และชัดเจน ซึ่งงานป้องกันเป็นงานสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับงานปราปปราบ เป็นการเห่าเตือนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาป.ป.ช.ได้มีการเสนอแนะมาตรการต่างๆไปยังครม.อาทิ โครงการรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 4000 คัน ได้มีการเสนอมาตรการป้องกันและข้อเสนอแนะกรณีโครงการรับจำนำข้าว โครงการน้ำบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ทั้งหมดทางป.ป.ช.พยายามนำเสนอมาตรการต่างๆไปยังรัฐบาล เนื่องจากป.ป.ช.มีหน่วยงานวิจัยที่คอยศึกษาหากเห็นว่าโครงการต่างๆนั้นอาจเกิดผลกระทบและเสียหายได้ นายมานะ นิมิตรมงคล กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการต่อต้านการทุจริตไม่ควรหวังให้หน่วยงานราชการหรือกลุ่มการเมืองแก้ไขปัญหาอย่างเดียว เพราะกระบวนการยุติธรรม แม้ป.ป.ช.จะส่งฟ้องสำนักงานอัยการ แต่พบว่ามีหลายคดีที่ป.ป.ช.พยายามผลักดันเกิดการเตะถ่วง มีการล้มคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก แต่ก็ยังความเชื่อและหวังว่าป.ป.ช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มีบุคลากรที่ได้รับการปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นอย่างดี จะเป็นที่พึ่งในด้านการป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชั่นได้ แม้ทุกๆปีผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตัวเลขการทุจริตจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่น่ากลัวไปกว่าผลสำรวจว่าประชาชนยอมรับการคอร์รัปชั่น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เกิดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันและปราบปราม โดยภารกิจที่กำลังดำเนินการหลักๆ 3 ส่วน คือ 1. ความพยายามรณรงค์ปลูกฝังด้านคุณธรรม ให้เกิดโครงการเยาวชนไทยไร้คอร์รัปชั่น โครงการโตไปไม่โกง โครงการบัณฑิตย์ไทยไม่โกงข้อสอบ ไม่โกงเงินกู้ทางการศึกษา 2. เฝ้าติดตามเมกกะโปรเจคของภาครัฐที่ประชาชนรู้สึกกลัวและเป็นกังวลว่าจะเกิดช่องของการทุจริต ประกอบด้วย โครงการรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3. การผลักดันร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาการเรียกสินบนจากเจ้าหน้าที่ และการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันคอร์รัปชั่น โดยการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากมีกฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าจะสามารถรู้เท่าทันว่าเทคนิคการโกงเป็นอย่างไร นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กล่าวว่า ยังมีภาคเอกชนบางส่วนไม่ยอมเข้าร่วมการเฝ้าระวังการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และแม้ธนาคารต่างๆ จะอยู่ในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ก็ยังปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านั้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนอีกทางหนึ่งที่จะลุกขึ้นมาเป็นพลังกดดัน หลังจากนั้นในช่วงบ่ายได้มีการแถลงถึงผลงาน 1 ปีโครงการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในด้านคุณธรรม จริยธรรม และการเฝ้าระวังตรวจสอบการทุจริตในภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง (โครงการหมาเฝ้าบ้าน) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีโครงการนี้ขึ้นมาเพราะป.ป.ช.ต้องการสร้างเครือข่ายในภาคประชาชนให้มาร่วมกันตรวจสอบการทุจริต โดยป.ป.ช.ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้แต่เพียงลำพัง ประกอบกับในความจริงรัฐบาลมักจะไม่ค่อยให้สำคัญกับการจัดสรรงบประมาณให้กับป.ป.ช.เนื่องจากไม่ต้องการให้ป.ป.ช.เพิ่มกำลังคนเข้ามาตรวจสอบตัวเอง จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ป.ป.ช.ต้องสร้างเครือข่ายกับสังคมให้มีความเข้มแข็ง "เครือข่ายหมาเฝ้าบ้านถือว่าเวลานี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งป.ป.ช.สามารถชี้มูลความผิดบุคคลในระดับรัฐมนตรีได้นั้นก็มาจากการทำงานร่วมกับภาคประชาชนโดยเฉพาะการลงพื้นที่เก็บข้อมูล นายวิเชียร พงศธร กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในภาคเอกชนอย่างในกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มีมาตรการออกมาแล้วว่าทุกบริษัทจะต้องมีนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตมาให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วยนอกเหนือไปจาการมีนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่องสังคม (ซีเอสอาร์) เท่านั้น จะเห็นได้ว่า เครือข่าย"หมาเฝ้าบ้าน"เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบการการทุจริต ส่วนตัวเชื่อว่าคนในพื้นที่คนในชุมชนสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกโดยตรง ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่าคนไทยยอมรับการโกงอีกต่อไปไม่ได้แ และคนไทยพร้อมใจกันต่อต้านเพื่อปกป้องผลประโยชน์และตอบแทนคุณแผ่นดิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ