ป.ป.ช.ร่วมมือกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยเสวนามาตรการป้องกันการโกงในการจัดซื้อจัดจ้าง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 8, 2013 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักป้องกันการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนจัดสัมมนา "มาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และหลักเกณฑ์การแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคล หรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ" เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่การแสดงบัญชีรายรับจ่ายของบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีศาสตราจารย์ ดร. ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และนายวิโรจน์ ฆ้องวงศ์ นักกฎหมาย ป.ป.ช. ชำนาญการพิเศษ ร่วมการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาและแนวทางในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต “เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และหลักเกณฑ์การแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ผู้แทนสถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนส่วนราชการ ประมาณ 100 คน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาครั้งนี้ ได้จัดให้มีเป็นประจำซึ่งมีมาแล้ว 2-3 ปี โดยการสัมมนาที่ผ่านมานอกจากจะเป็นการหารือกันในเรื่องปกติทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังมีการนำหัวข้อที่น่าสนใจมาพิจารณาเป็นประจำด้วย สำหรับการพิจารณาครั้งนี้จะยกเรื่องมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างมาพิจารณา โดยเรื่องนี้มีความสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ทั้งยังครอบคลุมถึงกิจการการค้าต่างประเทศในประเทศไทยด้วย ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในหลายด้าน ซึ่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในมาตรา 103 กำหนดให้การทำสัญญาระหว่างหน่วยภาครัฐกับบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญา ต้องแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ต่อกรมสรรพากร เพื่อให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน และการคำนวณภาษีเงินได้ในโครงการ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น ในหน่วยงานภาครัฐ สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และป้องกันไม่ให้มีการนำรายได้จากการเป็นคู่สัญญาของรัฐ ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจ้างภาครัฐตามกฎหมายของป.ป.ช. คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นมาตรการที่ต้องการแก้ปัญหาในการทุจริตในภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญมี 2 ส่วน คือ 1.การสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพราะเป็นสาเหตุที่จะเกิดทุจริตในอดีต และ 2. การป้องกันมิให้มีการนำรายได้ที่เกิดจากการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐเอาไปใช้ในทางที่ผิดเช่น นำไปใช้เป็นเงินสินบนหรือเอาไปให้เป็นประโยชน์ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดว่าหน่วยงานคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐจะต้องมีการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการรายโครงการต่อกรมสรรพกรศาสตราจารย์ ดร. ภักดี. กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการพัฒนาและการลงทุน ในโครงการ เม็กกะโปรเจทจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นเข้าข่ายจะต้องจัดทำและยื่นบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายต่อกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์เดียวกัน แต่จะไม่กระทบกับบุคคลต่างด้าว หรือบริษัทต่างประเทศ ที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีอากร โดยการยกเว้นการเสียภาษีจะคงไว้ดังเดิม แต่ต้องจัดทำและยื่นแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายในโครงการที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของข้าราชการ ถือว่ามีความผิดทางวินัย และอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่วนบริษัทเอกชนหรือนิติบุคคล หากไม่ยื่นแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือการยื่นมีความผิดปกติจะถูกขึ้นบัญชีดำ และไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐได้อีก น.ส. สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึง มาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และหลักเกณฑ์การแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการที่บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ว่า จากงบประมาณจำนวนมากที่รัฐมีงบลงทุนราชการรวมปีละ 6-7 แสนล้านบาท ทั้งยังมีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับกระทรวงการคลัง และป.ป.ช. ที่จะต้องควบคุมการทุจริต กับคนที่พยายามหาช่องทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ทั้งนี้หลักกฎหมายของกระทรวงการคลังไม่มีข้อยกเว้นกรณีใดๆในการแสดงราคากลาง ซึ่งต้องมีการแสดงราคากลางอย่างชัดเจน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ