กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมเพื่อระดมสมอง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง: กรณีจังหวัดสงขลา” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอเผยแพร่ความรู้ผลวิจัยด้านกัดเซาะชายฝั่งทะเล พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยมีนายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการเปิดประชุม ร่วมด้วย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. และคณะนักวิจัย นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานจังหวัด ตลอดจนแกนนำภาคประชาชน และสื่อมวลชนในพื้นที่
นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่สำคัญและทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ สภาพปัญหาการกัดเซาะของสงขลาเกิดขึ้นตั้งแต่อำเภอจะนะ อำเภอเมือง อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ จนไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ทุกภาคส่วนต้องค้นหาความจริงว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลาเกิดอะไรขึ้น โดยในส่วนของการแก้ปัญหามีด้วยกันหลายวิธี เช่น การใช้ลักษณะโครงสร้างแข็ง (เช่น เชื่อนกันคลื่น กำแพงกันคลื่น กองหินหัวหาด) หรือโครงสร้างอ่อน (เช่น เสริมทรายชายหาด ปลูกป่าชายเลน) ซึ่งในวงการวิชาการยังมีการถกเถียงในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางว่าวิธีการใดจะเหมาะสมกว่ากัน รวมถึงปัญหาในการปฏิบัติที่ยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนจะให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปดำเนินการแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่คาดหวังจากเวทีคือความชัดเจนของสถานการณ์ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา ถ้าภาครัฐกำหนดตรงนี้ได้ในการแก้ไขปัญหาก็จะสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ใช่เป็นปัญหาของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดภาคใต้ โดยในด้านวิชาการจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะทั้งโครงสร้างแข็งหรือโครงสร้างอ่อนต่างล้วนสามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะได้ โดยให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด”
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่อว่า “แนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งกรณีจังหวัดสงขลา เชื่อว่าจะเป็นแนวทางต้นแบบสำหรับการแก้ปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งแก่บริเวณอื่นๆ ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยงานประชุมในเวทีครั้งนี้อยากให้ทุกภาคส่วนได้สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้นักวิชาการได้รับทราบ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันวอนให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคี เนื่องจากในการแก้ปัญหาการกัดเซาะสามารถทำได้หลายวิธี เพื่อค้นหาบทสรุปและแนวทางว่าวิธีใดที่จะดีที่สุดสำหรับจังหวัดสงขลาต่อไป”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า “ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดสงขลา วิธีที่จะแก้ไขปัญหาได้คือ ต้องมีข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน การมองข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ โดยข้อมูลที่ได้ต้องเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ความคิดเห็น เช่น การกัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร ตั้งแต่ช่วงไหน มากเท่าไร เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์และหาแนวทางต่อไป ด้วยเหตุนี้ สกว. จึงร่วมกับทางจังหวัดสงขลา จัดเวทีนำเสนอเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและข้อมูลครั้งนี้ขึ้น รวมทั้งเพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว โดยมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากนักวิจัยจำนวน 6 เรื่อง มานำเสนอในงานนี้ (เช่น สถานการณ์และแผนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของภาครัฐ โดย คุณจินตวดี ทิพยเมธากุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา / ปัญหาและสาเหตุของการสูญเสียหาดทรายจังหวัดสงขลา และการศึกษาเบื้องต้นเพื่อกำหนดระยะถอยร่นสำหรับชายฝั่งทะเลในประเทศไทย พื้นที่จังหวัดสงขลา โดย ดร. สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นต้น) ซึ่งหวังว่าผลจากเวทีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเพื่อให้เห็นถึงแนวทางและโอกาสในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของจังหวัดสงขลาต่อไป”
“การจัดเวทีครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวทีความรู้เพื่อสาธารณะในพื้นที่ภาคใต้ที่ สกว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการภายใต้ชื่อ “ABC Forum ความรู้เพื่อสาธารณะ” ระยะเวลา 1 ปี (ก.ย. 56 - ส.ค. 57) เพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการที่มีการใช้ข้อมูลความรู้จากกระบวนการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ผ่านการสื่อสารวงกว้างให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตัดสินใจร่วมกัน โดยกำหนดจัดประชุมเดือนละครั้ง” รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเสริม
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ปี 2554) พบว่า ตั้งแต่ปี 2495 - 2551 จ.สงขลามีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วทั้งสิ้น 6 อำเภอ 28 ตำบล (จากจำนวน 16 อำเภอ 127 ตำบลของทั้งจังหวัด) เป็นแนวชายฝั่งถูกกัดเซาะในระดับรุนแรง 13.43 กม. ระดับปานกลาง 41.09 ดม. รวม 54.52 กม. จัดเป็นจังหวัดที่มีแนวชายฝั่งถูกกัดเซาะเป็นอันดับ 4 ของประเทศรองจาก จ.นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ และปัตตานี ตามลำดับ แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยศึกษาในประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก แต่ผลงานวิจัยมีความหลากหลายและยังให้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
นายวีระวุฒิ ฟุ้งรัตนตรัย (ไต๋) ฝ่ายสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทรศัพท์ 0-2278-8200 ต่อ 8354 หรืออีเมล: werawut@trf.or.th