เบทาโกร จับมือ สวก. และ มก. เซ็น MOU ขยายผลสำเร็จนวัตกรรมผลิตเอนไซม์เคราติเนส ย่อยขนไก่เป็นโปรตีนอาหารสัตว์ ศึกษาต่อยอดนำงานวิชาการมาใช้จริงในเชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 9, 2013 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--เครือเบทาโกร เครือเบทาโกรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การใช้ประโยชน์โรงงานต้นแบบและเครื่องมืออุปกรณ์จากโครงการการผลิตเอนไซม์เคราติเนสในระดับโรงงานต้นแบบ” ขยายผล สู่การศึกษาหาแนวทางนำความสำเร็จจากผลงานวิจัย มาใช้ประโยชน์จริงในเชิงวิชาการ และ เชิงพาณิชย์ ยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของไทย นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเบทาโกร รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การใช้ประโยชน์โรงงานต้นแบบและเครื่องมืออุปกรณ์จากโครงการการผลิตเอนไซม์เคราติเนสในระดับโรงงานต้นแบบ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผลงานวิจัย รวมทั้งเกิดการใช้ประโยชน์โรงงานต้นแบบและเครื่องมืออุปกรณ์อย่างจริงจังเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน นายวนัส กล่าวว่า เครือเบทาโกร ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยถือเป็นพันธกิจสำคัญขององค์กร จึงให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาโดยตลอด ในด้านแนวคิดที่จะผลิตเอนไซน์สำหรับการย่อยขนไก่ ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยและพัฒนาซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนากว่า 2 ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการนำผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เพื่อร่วมกันศึกษาหาแนวทางการนำโรงงานต้นแบบมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และให้บริการในด้านวิชาการ ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องการหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทน แก้ปัญหาขนไก่ที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ และช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน เครือเบทาโกรต้องสั่งซื้อเอนไซม์จากผู้ผลิตในต่างประเทศ เพื่อนำมาช่วยย่อยขนไก่ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปประมาณ 1,200 ตันต่อเดือน ให้เป็นขนไก่ป่น (Feather Meal) ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับใช้ผลิตอาหารสัตว์ โครงการดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และเป็นตัวอย่างของงานวิจัยและพัฒนาในเชิงวิชาการที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ก่อให้เกิดการยกระดับในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย รศ.วุฒิชัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกในรูปของไก่สดและเนื้อไก่แปรรูป ขณะเดียวกันในกระบวนการแปรรูปพบว่ามีขนไก่เหลือทิ้งในปริมาณมาก ซึ่งขนไก่เหล่านี้ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 85% ส่วนใหญ่เป็นโปรตีนประเภทเคราติน (Keratin) ที่ย่อยสลายได้ยาก และถ้ามีการสะสมในปริมาณมากจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยการนำของ รศ.ดร.สุนีย์ นิธิสินประเสริฐ ได้เริ่มการวิจัยเพื่อค้นคว้าจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายขนไก่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 พบว่าจุลินทรีย์ที่ได้สามารถสร้างเอนไซม์ที่มีแนวโน้มในการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการย่อยขนไก่ได้ดี จึงได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี และในปีพ.ศ.2554 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และเครือเบทาโกร ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเป็นจำนวนเงินกว่า 38 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ “โรงงานต้นแบบการผลิตเอนไซม์ เคราติเนสสำหรับการย่อยขนไก่เพื่อใช้ในอาหารสัตว์” (Keratinase Production at Pilot Scale) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี 6 เดือน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการในระยะสุดท้าย รศ.ดร.พีรเดช กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเอนไซม์ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติที่ดี รวมทั้งมีงานวิจัยที่ เกี่ยวขัองกับการใช้เอนไซม์ในอาหารสัตว์เป็นจำนวนมาก ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถแยกและคัดเลือกสายพันธุ์แบคทีเรียและเชื้อราที่มีคุณสมบัติในการสร้างเอนไซม์เคราติเนส ซึ่งผ่านการทดสอบร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ในระดับห้องปฏิบัติการและในตัวสัตว์มานานกว่า 3 ปี พบว่ามีคุณสมบัติและคุณภาพในการใช้ย่อยขนไก่ได้เทียบเท่าเอนไซม์จากต่างประเทศ โรงงานต้นแบบนี้ยังสามารถใช้เพื่อการทดลองผลิตเอนไซม์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในอาหารสัตว์ได้ ซึ่งมีมูลค่าในการนำเข้ามากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารสำหรับมนุษย์ เช่น หัวเชื้อในการหมักซีอิ๊ว แหนมและอาหารหมักดองอื่นๆ นับเป็นนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย และยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเอ็นไซม์อื่นๆ ต่อไปในอนาคต สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร เครือเบทาโกร ธีรานุช วรรณสาย โทร. 0 2833 8315 อีเมล์ theeranuchw@betagro.com วิภาพรรณ อมรศักดิ์ โทร. 0 2833 8316 อีเมล์ wipapana@betagro.com ขนิษฐา ลุนผา โทร. 0 2833 8317 อีเมล์ kanittal@betagro.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ