กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมและใช้ในการลงทุนตามแผน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยและแนวโน้มการใช้แก๊สโซฮอล์และเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในเดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ของ บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรีซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่ถือหุ้นโดยครอบครัวว่องกุศลกิจ โดยบริษัทซื้อหุ้นในราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ และใช้เงินลงทุนรวม 93.5 ล้านบาท บริษัทจะรวมผลการดำเนินงานของบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีในปี 2556 เป็นต้นไป ในปีการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลรวมบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านตัน
บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลผลิตน้ำตาลที่ 2.00 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปีก่อนเนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยเริ่มดำเนินงาน ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (16.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.4%) และกลุ่มวังขนาย (6.6%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105.9 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 100.24 กก. ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2555/2556
บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.14 ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 123.2 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2555/2556 โรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาวของบริษัทผลิตน้ำตาล 0.34 ล้านตันในฤดูการผลิต 2555/2556 ส่วนโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย (MSF) อยู่ระหว่างการหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2555/2556 MSF คาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 0.55 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2555/2556
ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) ในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 89,572 ล้านบาท และมี EBITDA 15,581 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 67% ของ EBITDA รวมของบริษัทกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 37% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 28% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดยธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวมี EBITDA เพียง 416 ล้านบาทในปี 2555 ส่วน MSF มี EBITDA เพียง 64 ล้านบาทในปี 2555
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนมิถุนายน 2556 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดย EBITDA เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,833 ล้านบาทในปี 2555 จาก 2,425 ล้านบาทในปี 2551 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 31% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2555
แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง รายได้ของบริษัทยังทรงตัวในระดับสูงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 โดยรายได้ทรงตัวที่ 47,400 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 46,899 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าตลอดจนการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายน้ำตาลในประเทศจีนชดเชยการปรับลดของราคาน้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำตาลทั้งประเทศไทยและจีนลดลงโดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (รวมกำไรจากสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้า) ลดลงเป็น 22.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 25.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA รวมลดลงเป็น 11,333 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2556 ลดลง 10% จาก 12,570 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 53% ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาล แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดต่ำลงแต่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 9.5 เท่าในครึ่งปีแรกของปี 2556 โครงสร้างการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 47.0% ณ เดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนเงินกู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเป็น 52.0% ณ เดือนมิถุนายน 2556 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลการผลิตในครึ่งแรกของปี
ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ระดับต่ำแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์จากประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังประสบปัญหาต้นทุนอ้อยในประเทศจีนที่อยู่ระดับสูงเนื่องจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีน ดังนั้นคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนแอลงแต่คาดว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ เนื่องจากราคาส่งออกสำหรับปี 2556 ของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้มีการทำสัญญาขายล่วงหน้าไปทั้งหมดแล้ว ณ ราคาใกล้เคียงกับราคาส่งออกอ้างอิงที่ดำเนินการขายโดย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย โดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยได้ทำสัญญาขายน้ำตาลทั้งหมดในราคาประมาณ 21 เซนต์ต่อปอนด์สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 นอกจากนี้ การเติบโตของความต้องการเอทานอลและกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยการลดลงของกำไรในธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 17,500 ล้านบาทในปี 2556-2558 เงินลงทุนนี้สามารถใช้เงินจากกำไรจากการดำเนินงาน เนื่องจากบริษัทมี EBITDA ประมาณ 15,000-17,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
PSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC185A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable