กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
สภาคณาจารย์และข้าราชการ มรภ.อุดรธานีจัดถกร่างพรบ.การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ปี พ.ศ. ..... พบอาจารย์ไม่เห็นด้วยมากสุด ม.78 ม.85 “อาจารย์ต้องเป็นผศ.ภายใน 7 ปี ไม่ได้ให้ออกจากราชการ”ไม่เห็นด้วยการยุบพรบ.ข้าราชการพลเรือน 2547 และ 2551
ผศ.พัฒนาภรณ์ ชัยประเสริฐ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สภาคณาจารย์และข้าราชการ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานบุคคลในถาบันอุดมศึกษา ปี พ.ศ. ... โดยจัดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุม 2 เวลา 14.00 — 16.00 น. ผู้ดำเนินการในครั้งนี้ได้แก่ผศ.เดชอนันต์ บุญผัน กรรมการสภามหาวิทยาลัย และดร.ระวี พรหมหลวงศรี ผู้ช่วยอธิการบดี โดยมีคณาจารย์ พนักงาน และลูกจ้าง เข้าร่วมงานจำนวนมาก สำหรับผลที่ได้ในครั้งนี้จะประมวลผลแล้วส่งไปยังสกอ.ต่อไป.
ผศ.ดร.สุภีร์ สมอนา ประธานคณะกรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุดรธานี ผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นแสดงความคิดเห็นว่า “ร่างพรบ.การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาฉบับนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เป็นการพยายามรวมโจทย์ 2 โจทย์เข้าด้วยกัน โดยเน้นการแก้ไขปัญหาของพนักงานอาจารย์ในเบื้องต้น แต่ไม่ทราบว่ามีมูลเหตุมาอย่างไร เจตนารมณ์ของกฎหมายจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยหมายรวมถึงข้าราชการเข้าไปในร่างพรบ.ฉบับนี้ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา”
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์ เปิดเผยว่า อุดรโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เรื่อง ความคิดเห็นของบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่มีต่อพระราชบัญญัติการบริหานงานบุคคลในถาบันอุดมศึกษา ปี พ.ศ... ระหว่างวันที่ 4 — 7 ตุลาคม 2556 ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรไม่เห็นด้วยกับร่างพรบ.ฉบับนี้ ร้อยละ 25.8 เห็นด้วยร้อยละ 21.6 และไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 52.6
พบบุคลากรไม่ทราบว่าจะมีการยกเลิกพรบ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2547 และ 2551 ร้อยละ 67.0 ในขณะที่ทราบร้อยละ 33 ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 78 ไม่ได้รับตำแหน่งให้ออกจากราชการ ร้อยละ 66.0 เห็นด้วยร้อยละ 17.5 ประเด็นอาจารย์ต้องเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายในเจ็ดปี พบว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 51.5 เห็นด้วยร้อยละ 32.0 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 16.5 สำหรับประเด็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ต้องเป็นรองศาสตราจารย์ภายใน 7 ปี พบว่าบุคลากรไม่เห็นด้วย ร้อยละ 56.7 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 26.8 และเห็นด้วยร้อยละ 16.5 นอกจากนี้ในมาตรา 85 ข้าราชการที่ไม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการจะต้องออกจากราชการ พบว่าบุคลากรไม่เห็นด้วยร้อยละ 40.2 เห็นด้วยร้อยละ 33.0 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 26.8 ประเด็นการให้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเพียง 2 คน พบว่าไม่เห็นด้วยร้อยละ 72.2 เห็นด้วยร้อยละ 8 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 27.8 ประเด็นการสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้อำนาจอธิการบดี ไม่เห็นด้วยร้อยละ 62.9 เห็นด้วย รอยละ 18.6 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 18.6 ตามลำดับ มาตรา 76 การสั่งให้พนักงานออกจากงานก่อนครบระยะตามสัญญาจ้าง พบว่า ไม่เห็นด้วยร้อยละ 59.8 เห็นด้วยร้อยละ 22.7 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 17.5
การรับรู้ของร่างพรบ.ฉบับนี้ พบว่าบุคลากรพอได้ยินมาบ้าง ร้อยละ 57.7 อ่านแล้ว ร้อยละ 27.8 อื่น ๆ ร้อยละ 9.3 อ่านและทำความเข้าใจร้อยละ 5.2 ตามลำดับ ประเด็นพรบ.นี้จะส่งผลให้บุคลากรเป็นอย่างไร พบว่า ได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ร้อยละ 28.9 ลิดรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ ร้อยละ 21.6 บั่นทอนขวัญและกำลังใจ ร้อยละ 12.4 ผู้บริหารมีอำนาจมากขึ้น ร้อยละ 11.3 บีบให้ข้าราชการเปลี่ยนสถานะมากขึ้น 9.3 อื่น ๆ ร้อยละ 16.5 สำหรับประเด็นการรวมข้าราชการและพนักงานเข้าด้วยกันพบว่า เห็นด้วยร้อยละ 39.2 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 35.1 ไม่มีความคิดเห็นร้อยละ 25.8 ตามลำดับ.