PwC เผยผลสำรวจซีอีโอเอเชีย-แปซิฟิก มั่นใจธุรกิจ-รายได้โต, ชี้ลงทุนเพิ่มใน 3-5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2013 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--PwC ประเทศไทย PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพบซีอีโอส่วนใหญ่มั่นใจว่าธุรกิจในระยะยาวยังเติบโต โดยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง จำนวนประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และดีมานต์ของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันการเจริญเติบโตของรายได้ แม้ในระยะสั้นมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ วิกฤติหนี้ในยุโรป และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว PwC ได้จัดทำ APEC CEO Survey 2013 ‘Towards resilience and growth: Asia-Pacific business in transition’ ระหว่างเดือนมิ.ย-ส.ค. 56 โดยเก็บข้อมูลจากซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 478 คน ในภูมิภาค รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ทั้งหมด 21 ประเทศ โดยผลสำรวจนี้ยังถูกใช้เผยแพร่ในการประชุม APEC CEO Summit ประจำปี 2556 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมา นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย กล่าวว่ามีบรรดาซีอีโอที่ทำการสำรวจถึง 42% ที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตรายได้ทางธุรกิจ (Revenue Growth) ของตนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจในปีที่ผ่านมา ที่มีซีอีโอที่แสดงความเชื่อมั่นเพียง 36% นอกจากนี้ยังมีซีอีโอถึง 68% ที่กล่าวว่าตนมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในปี 2557 แม้ยังมีความกังวลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเงินทุนไหลออกนอกภูมิภาคเป็นปัจจัยเสี่ยง ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอมากกว่าครึ่ง หรือ 52% ที่มั่นใจในการเติบโตของรายได้ของธุรกิจในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า “ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกมี Resilience หรือมีความยืดหยุ่นสูง พูดง่ายๆคือ มีการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา” นาย ศิระ กล่าว “จุดแข็งประการสำคัญที่พบคือ เราเห็นผู้บริหารมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดูได้จากสัญญาณในเชิงบวกต่อแนวโน้มรายได้ บวกกับรายได้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจาก Supportive factors อื่นๆ เช่น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง และดีมานต์ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” นาย ศิระกล่าวว่า บรรดาซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังเชื่อว่าประเทศต่างๆภูมิภาคจะสามารถบรรลุเป้าหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าในภาคบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก APEC 21 ประเทศ “อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่แน่นอนด้านการบังคับใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับทางด้านการลงทุนแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศ จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว” เขากล่าว ผลสำรวจยังระบุว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ยังมองว่าจีน (35%) และสหรัฐอเมริกา (35%) จะยังเป็นตลาดหลักของการลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ประเทศต่างๆอย่างออสเตรเลีย (29%) นิวซีแลนด์ (26%) อินโดนีเซีย (15%) และประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีจุดแข็งทางภาคบริการในภูมิภาคได้แก่ ฮ่องกง (15%) และญี่ปุ่น (14%) ก็ยังเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนที่สำคัญอีกด้วย ด้านนาย เดนนิส แนลลี่ ประธาน บริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd กล่าวถึงแนวโน้มของสภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและยังมีความเปราะบาง โดยมีความเสี่ยงขาลงจากการชะลอตัวและการเสียสมดุลของโลกมากกว่าที่คาด “ในส่วนของเศรษฐกิจในภูมิภาค เรามองว่าเอเชียแปซิฟิกจะยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาเสถียรภาพของ Growth เนื่องจากในภาพรวม ตลาดการเงินโลกยังมีความผันผวน และทิศทางการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังเป็นไปอย่างช้าๆ” นาย แนลลี่ กล่าว “ภูมิภาคนี้กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญของการขยายตัวของโลกเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นทุกภาคส่วนมีหน้าที่ที่จะต้องมองไปข้างหน้า รับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น และประคับประคองเส้นทางที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของเอเชีย-แปซิฟิก” “ม้ามืด” แห่งเอเชีย-แปซิฟิก นาย ศิระ ยังกล่าวถึงผลสำรวจว่า ประเทศอย่างอินโดนีเซีย (19%) เมียนมาร์ (11%) และจีน (8%) ยังถูกจัดอันดับให้เป็น ‘ม้ามืด’ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว เป็นผลมาจากแรงงานที่มีทักษะที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโต บวกกับความมีเสถียรภาพของประชาธิปไตย และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆที่ถูกจัดอันดับ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (7%) เวียดนาม (7%) และอินเดีย (5%) บรรดาซีอีโอยังเชื่อว่า ความร่วมมือกันของภาครัฐฯในอันที่จะเร่งให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องของกรอบตกลงทางการค้า การลงทุนทั้งในระดับทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี รวมทั้งความร่วมมือกันในด้านอื่นๆทั้งในและนอกภูมิภาค จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังจะกระตุ้นให้เกิดกระแสการลงทุนใหม่ๆจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจ PwC ระบุว่า ประเด็นที่ซีอีโอในเอเชีย-แปซิฟิกมองว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อธุรกิจสองอันดับแรกได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของการใช้กฏหมายข้อบังคับ (Change to regulatory) และ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure development) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฟฟ้า ขนส่ง น้ำ และ สาธารณสุข “ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง ออสเตรเลีย อเมริกา และญี่ปุ่น โครงสร้างพื้นฐานของเค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ เริ่มมีความล้าหลัง ต้องมีการอัพเกรด ต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียอย่างบ้านเรา ที่ยังคงมี Room ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่มาก ล่าสุดธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี คาดการณ์ว่าภูมิภาคเรายังต้องการการลงทุนมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี 53-63 หากต้องการที่จะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่เป็นอยู่” นาย ศิระ กล่าว “ที่ผ่านมา ผมมองว่าเอเชียมีจุดแข็ง เพราะมีหนี้น้อยและระดับเงินออมที่แข็งแกร่ง มีกำลังพอที่จะสามารถลงทุนในโครงการใหญ่ๆพวกนี้ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักลงทุนบางรายอาจจะมองในเรื่องความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบข้อบังคับ ความไม่แน่นอนของการบังคับใช้กฏหมาย หรือแม้กระทั่งเรื่องของความโปร่งใสในการประมูล สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการช่วยกันสนับสนุนในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมต่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น Infrastructure ในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น” เขา กล่าว ผลการสำรวจอื่นๆ มีดังนี้ - ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกเกือบถึง 90% กล่าวว่าตลาดผู้บริโภคในกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle-income consumer markets) มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนที่เพิ่มขึ้น มุ่งเน้นไปที่การขยายสินค้า (Products), บริการ (Services) และช่องทางในการจัดจำหน่าย (Distribution channels) ใหม่ๆ - การพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์และการคมนาคมขนส่งในเขตเมืองจะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบข้อบังคับและกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน - ความต่อเนื่องของการบังคับใช้กฏระเบียบข้อบังคับทั่วทั้งภูมิภาคจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสการลงทุนใหม่ๆ โดยซีอีโอถึงหนึ่งในห้าที่ทำการสำรวจกล่าวว่าจะมองหาช่องทางในการลงทุนเพิ่ม หากกฏระเบียบข้อบังคับในประเด็นต่างๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property), ธรรมาภิบาล (Corporate governance) และธุรกิจภาคบริการมีความสอดคล้องและเสมอภาค - ซีอีโอในภูมิภาคกว่า 70% ต้องการเห็นการมีเวทีการเจรจาทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก แต่ในขณะเดียวกันผู้นำ 22% มองว่าการเจรจาอาจก็นำมาซึ่งความไม่แน่นอนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่มากขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ