กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ชมรมเ้กษตรปลอดสารพิษ
ในเกือบทุกๆทศวรรษ จะมีระเบียบกฎเกณฑ์เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างมากมายให้เราได้สัมผัสเกี่ยวข้อง และต้องปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตให้สอดคล้องสัมพันธ์กันไปตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ มีรูปแบบที่ยากบ้างง่ายบ้างผสมปนเปกันไป ... ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตรของไทยก็เช่นกัน มีการออกมาตรการกฎเกณฑ์ต่างๆ จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือแม้แต่กฎของโลกที่เป็นสากล โดยมีประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการสร้างกฎ และทฤษฎีต่างๆเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรหรือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มแรกที่รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มาก รวมถึงให้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ผักใบสวย เวลาต่อมาจึงให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้สารพิษตกค้างในพืชผักลดน้อยลง รวมถึงให้หยุดฉีดพ่นสารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว 7 -15 วัน เพื่อให้ผักปลอดภัยจากสารพิษ และสุดท้ายก็พยายามให้เกษตรกรหยุดฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด เพื่อให้เป็นผักที่ปลอดภัยไร้สารพิษ รวมถึงหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้ผลผลิตออกมาเป็นผักอินทรีย์ ตอบสนองต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปลอดภัย มีอายุขัยที่ยั่งยืน
มองอีกมุมหนึ่ง การปรับเปลี่ยนในแต่ละครั้งนั้นจะส่งผลไปยังพี่น้องเกษตรกรที่ห่างไกลข้อมูลและเทคโนโลยี จึงทำให้การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งล่าช้า และผลผลิตที่ออกมาก็จะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดส่งออก สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการส่งออกไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากผลผลิตไม่ผ่านกฎเกณฑ์ที่กำหนดออกมา ส่งผลให้สูญเสียโอกาสและรายได้ ประเทศต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกเพราะมาตรฐานผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมในเกือบจะทุกสิบปี เพราะสินค้าไม่มีมาตรฐานตามที่ต้องการ การตอบสนองต่อผู้บริโภคที่นักการตลาดเปรียบเปรยว่าเป็น เดอะคิงส์ หรือ Customers is the King คือต้องทำให้ถูกใจพระราชา หรือมองอีกมุมหนึ่งนั่นอาจเป็นอาวุธที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้ทำลายประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนาทั้งหลายหรือไม่? ยังไงก็ขอฝากทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไตร่ตรองเลือกเอาแต่สิ่งที่เกิดประโยชน์โดยรวมมาปรับใช้ให้เหมาะสม หรือไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเกณฑ์ของเขาทุกเรื่องไป!!!
แต่ถึงอย่างไรก็ตามถ้ามองในระยะยาวและโฟกัสเฉพาะเจาะจงไปที่ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็ถือว่าส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศโดยรวม เพราะช่วยให้พืชผักผลไม้ที่เกษตรกรผลิตออกมานั้น มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค ในระยะยาวยิ่งเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ความชำนาญมากขึ้นเกี่ยวกับระบบการผลิตหรือปลูกพืชผักแบบปลอดสารพิษ ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยไม่ต้องรับสารพิษ สารก่อมะเร็ง และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้ามาในร่างกาย ซึ่งอาจจะเป็นผลร้ายในการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในอนาคตได้
การเปลี่ยนแปลงในด้านการหยุดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีและมีประโยชน์ เพราะช่วยให้ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายหรือถูกทำร้ายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง รวมทั้งยาฆ่าเชื้อราด้วย อีกทั้งช่วยให้ไม่เกิดสารตกค้างในพืชผักผลไม้ที่จะส่งตรงเพื่อแปรเป็นอาหารไปยังผู้บริโภค (from farm to table) ในมุมนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องการหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยทันทีทันใด พี่น้องเกษตรกรต้องหยุดคิดสักนิด ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ จะเป็นการสูญเสียโอกาสของรายได้จากผลผลิตที่อาจจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการที่พืชได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะดินนั้นมีการใช้งานด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องยาวนานไม่ได้หยุดพัก สารอาหารและอินทรียวัตถุในดินขาดการดูแลเอาใจใส่ ไม่มีการสะสมเป็นเสบียงเหมือนดินในป่าเขาลำเนาไพร ที่ชาวเขาขุดป่าถางหญ้าหยอดเมล็ดพันธุ์ โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยแม้แต่เม็ดเดียวก็สามารถงอกงาม และให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าดินที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน แล้วหยุดการให้ปุ๋ยเคมีอย่างทันทีทันใด จะให้ผลผลิตได้ดีดังเดิมหรือไม่ อันนี้ก็เป็นแง่คิดในเชิงธุรกิจการเกษตรที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ถ้าปลูกเพื่อไว้บริโภคเองในครัวเรือน ก็สมควรที่จะหยุดการใช้ปุ๋ยเคมีเสียทันที แล้วหันมาสร้างธนาคารปุ๋ยหมัก ให้เพียงพอรองรับต่อการขยายเป็นธุรกิจเกษตร ก็สามารถที่จะทำการเกษตรแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีการเกษตรแบบยั่งยืนได้ (อ่านบทความเรื่อง ธนาคารปุ๋ยหมัก ได้ใน http://www.thaigreenagro.com/Aticle.aspx?id=8252 )
การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเศษไม้ใบหญ้าหรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้มีอินทรียวัตถุสะสมอยู่ในดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพราะดินจะมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่แล้ว อีกทั้งยังช่วยให้พืชเจริญเติบโตงอกงามให้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดูแลบำรุงรักษาง่ายเพราะ พืชมีความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันจากสารอาหารที่ได้รับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และที่สำคัญการใช้อินทรีย์วัตถุทำให้โครงสร้างดินดี ไส้เดือนเยอะ จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ก็เข้ามาอยู่อาศัยอย่างมากมาย ยิ่งเสริมกับการใช้หินแร่ภูเขาไฟจากธรรมชาติ ซึ่งมีแร่ธาตุซิลิก้า (Sio2) ที่ละลายน้ำได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะยิ่งช่วยทำให้เซลล์พืชแข็งแกร่ง ต้านโรคแมลง และสามารถงดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลงได้ทันที และเปลี่ยนมาใช้เพียงน้ำหมักสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม สาบเสือ ขมิ้นชัน ไพล กานพลู หรือจุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงจากหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนก็มีให้เลือกมากมาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกต่อไป
สนับสนุนบทความโดย นายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด ( ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ )
สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2989 7844 , 081 732 7889