กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมและใช้ในการขยายสินเชื่อ อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงการพัฒนากระบวนการขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยงที่ต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเนื่องจากปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารธนชาตภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพสินเชื่อของบริษัทจากการที่ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้สินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าประสบการณ์ของผู้บริหาร ตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการสนับสนุนจากบริษัทแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในตลาดเป้าหมายได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจ
บริษัทราชธานีลิสซิ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคารธนชาตพร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ปัจจุบันธนาคารธนชาตได้จัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Non -Solo Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของ ธปท. แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ธนาคารธนชาตยังเข้าไม่ถึง ธนาคารธนชาตได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต ล่าสุด บริษัทได้เปลี่ยนระบบสารสนเทศสำหรับธุรกิจเช่าซื้อมาใช้ระบบเดียวกับของธนาคารธนชาต และเมื่อเดือนเมษายน 2556 บริษัทยังใช้ระบบบัญชีเดียวกับธนาคารธนชาตด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านการกำกับดูแลจากธนาคารแม่ด้วยเช่นกัน
สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารนครหลวงไทยในปี 2549 บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและจากการกู้ยืมจากธนาคารนครหลวงไทยเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสินเชื่อ สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 48% ในช่วงปี 2550-2554 สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 1,775 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 12,483 ล้านบาทในปี 2554 บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้นซึ่งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและช่วยสนับสนุนความพยายามในการขยายธุรกิจของบริษัท บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับ 24,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของปี 2554
บริษัทได้เน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 72% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทพยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เนื่องจากสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง บริษัทจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำรงธุรกิจและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% เมื่อสิ้นปี 2554 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการขยายสินเชื่อจำนวนมาก
บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิ 204 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 109 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิรักษาระดับอยู่ที่ 205 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่สูงขึ้นจากผลกระทบของอุทกภัย บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองในปี 2554 จำนวน 126 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านบาทในปี 2553 เพื่อใช้สำรองสำหรับหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 สอดคล้องกับการขยายตัวที่มากขึ้นของฐานสินเชื่อ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 489 ล้านบาทในปี 2555 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 139% การปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายฐานสินเชื่อจำนวนมาก รวมถึงการประหยัดจากขนาดจากต้นทุนการดำเนินงาน และการมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการประหยัดจากขนาดจากสินเชื่อที่เติบโตขึ้นและจากการสนับสนุนของธนาคารธนชาต อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ลดลงเป็น 13.3% ในปี 2555 จากระดับ 26.7% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่อไปอีกเป็น 9.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 การแข่งขันที่รุนแรงเป็นอุปสรรคต่อผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและต้นทุนต่ำจากธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทแม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำจากตลาดทุนโดยการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินด้วย แหล่งเงินต้นทุนต่ำช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายได้เป็น 4.5% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ณ งวดครึ่งแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับ 3.6% ในปี 2555 และจาก 3.0% ในปี 2554 โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROAA) ที่ระดับ 3.7% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 จาก 3.1% ในปี 2555 และ 1.9% ในปี 2554
ฐานทุนของบริษัททรุดลงจากการระดมทุนเชิงรุกโดยการกู้ยืมเพื่อขยายสินเชื่อแม้ว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการเพิ่มทุน 2 ครั้งล่าสุดแล้วก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงจาก 31.4% ในปี 2550 เป็น 13.4% ในปี 2553 และ 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การปรับโครงสร้างทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 บริษัทใช้ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีมากขึ้นในการขยายสินเชื่อในปี 2555 ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 13.0% ณ สิ้นปี 2555 ถึงแม้ว่าบริษัทจะเสริมฐานทุนในปี 2556 ด้วยการจ่ายหุ้นปันผล กระนั้นอัตราส่วนดังกล่าวก็ยังลดลงเป็น 11.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 อันเนื่องมาจากการขยายสินเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว
บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารหลวงไทยซึ่งปัจจุบันคือธนาคารธนชาต ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ประมาณ 75% ของเงินกู้ยืมรวมของบริษัทเป็นการกู้ยืมจากธนาคารแม่ บริษัทได้ชำระเงินกู้ยืมส่วนใหญ่ทั้งที่ได้จากธนาคารธนชาตและสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยใช้เงินจากหุ้นกู้ที่เสนอขายในปี 2555 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทไม่มีเงินกู้ยืมจากธนาคารธนชาตเลย ทั้งนี้ บริษัทจะยังไม่ใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารธนชาตจนกว่าจะมีความจำเป็นด้านสภาพคล่อง
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (THANI)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THANI144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+
THANI154A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
THANI164A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
THANI16NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
THANI176A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable