SET9: ตลท.จัดสัมมนาเรื่อง "การใช้เทคนิค VaR เพื่อบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลักทรัพย์"

ข่าวทั่วไป Monday December 13, 1999 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--13 ธ.ค.--ตลท.
"Value at Risk (VaR)" เป็นมาตรวัดมูลค่าความเสียหายสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ระดับความเชื่อมั่นตามความน่าจะเป็นและ
ช่วงเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ VaR เพื่อจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงที่จะรับได้ เพื่อรายงานความเสี่ยงของกิจการในมาตร
วัดเพียงตัวเดียวเพื่อกำหนดขนาดของเงินกองทุน การโยกย้ายเงินทุนภายในกิจการ และสามารถใช้ VaR เป็นมาตรวัดผลการดำเนินงาน”
การเติบโตและผันผวนอย่างรวดเร็วและความซับซ้อนของตลาดการเงินโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้มีส่วนร่วมในตลาดการ
เงินที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เริ่มตระหนักเป็นอย่างมากถึงการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน ในหลักทรัพย์และความเสี่ยงจากการที่คู่ค้าไม่ปฏิบัติ
ตามข้อตกลง อีกทั้งองค์กรกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ ก็ได้พิจารณาหามาตรการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนอย่าง
โปร่งใสยิ่งขึ้น
ธุรกิจหลักทรัพย์ กิจการวาณิชธนกิจ กองทุนรวม ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน รวมทั้งกิจการที่มิใช่สถาบันการเงินที่ลงทุนในกลุ่ม
หลักทรัพย์ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ หรือความเสี่ยงจากตลาด (market risk) วิธีการบริหารความเสี่ยงแบบ
เดิมที่ธุรกิจต่างๆ ใช้อยู่ได้แก่ การใช้แนวคิดการกระจายการลงทุนเพื่อบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ การวิเคราะห์สถานการณ์จำลองเพื่อคาดการณ์ผล
ตอบแทนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และการบริหารอายุของทรัพย์สินและหนี้สิน ตามการคาดการณ์โครงสร้างอัตราดอกเบี้ยตามอายุไถ่ถอน
วิธีการเหล่านี้แต่ละวิธีมีข้อจำกัดในตัวเอง ดังนั้น สถาบันการเงินชั้นนำของโลก จึงได้พยายามหาตัวแบบที่จะใช้วัดความเสี่ยง และรวมความ
เสี่ยงจากการถือครองหลักทรัพย์ของแต่ละส่วนเข้าเป็นมาตรวัดเพียงตัวเดียว อันเป็นที่มาของการบริหารความเสี่ยงโดยใช้เทคนิค Value at
Risk หรือ VaR
ตราบจนทุกวันนี้ เทคนิคบริหารความเสี่ยงโดยใช้ VaR ได้แผ่ขยายอย่างรวดเร็วไปในธุรกิจหลักทรัพย์และกิจการวาณิชธนกิจ และ
ยังได้เข้าสู่กิจการธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมต่างๆ ตลอดจนสถาบันที่มิใช่สถาบันการเงิน และได้มีการพัฒนาระบบการ
คำนวณอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นจากจุดเริ่มต้นที่ VaR มุ่งบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน ในกลุ่มหลักทรัพย์หรือความเสี่ยงจากตลาด
(market risk) เป็นสำคัญ ทุกวันนี้ระบบ VaR ยังได้พัฒนาวิธีการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ความเสี่ยง
จากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคู่ค้า (counter-party risk) รวมทั้งความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) ของหลักทรัพย์
นอกจากที่ธุรกิจต่างๆ จะรับเทคนิค VaR ไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจและลูกค้าอย่างกว้างขวางแล้ว องค์กรของรัฐ
และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลหน่วยงานธุรกิจต่างๆ ก็ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐ
อเมริกาตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา องค์กรกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์
และธุรกิจอื่นที่มีทุนจดทะเบียนสูงต้องระบุและรายงานปริมาณความเสี่ยงด้านตลาดที่ธุรกิจเหล่านั้นต้องเผชิญ (ตาม Regulation S-K, Item
305) ทั้งนี้ตามข้อกำหนดดังกล่าว การเปิดเผยตาม VaR เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ นอกจากนั้น เมื่อปี 1993 BIS (Bank for
International Settlements) โดย Basle Committee on Banking Supervision ได้แก้ไขมาตรการการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ด้านเครดิตของธนาคาร และเพิ่มเติมข้อกำหนดการรายงานความเสี่ยงจากตลาดไว้ด้วย และในปี 1998 BIS อนุญาตให้ธนาคารคำนวณ
ภาระของเงินทุนสำหรับความเสี่ยงจากตลาด (market risk) โดยอาจใช้ตัวแบบมาตรฐานหรืออาจใช้ตัวแบบที่อิงเทคนิค VaR เป็นฐานสำหรับ
การคำนวณภาระของเงินทุน ณ ระดับความเชื่อมั่น 99% ได้
สำหรับในประเทศไทยทั้งภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจการธนาคาร และสถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานของ
ทางการได้เห็นความสำคัญในการหามาตรการบริหารความเสี่ยงกันแพร่หลายขึ้น หลายหน่วยงานได้เริ่มนำเทคนิค VaR มาใช้ในการวัดและ
บริหารความเสี่ยงจากตลาดและความเสี่ยงด้านเครดิต ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่าหากแต่ละองค์กรได้มีความรู้ความเข้าใจในเทคนิค VaR อย่างแท้จริง การ
ใช้เทคนิค VaR เพื่อบริหารความเสี่ยงในธุรกิจต่างๆ ในไทย จะเป็นกระแสแนวคิดแนวปฏิบัติที่แพร่หลาย อันจะยังประโยชน์แก่ธุรกิจต่างๆ
และผู้ลงทุน มากขึ้น
ในโอกาสที่ รศ. ดร. อัญญา ขันธวิทย์ ซึ่งท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมบุกเบิกก่อตั้งโครงการปริญญาโททางการเงิน (Master in
Finance Program หรือ MIF) ทั้งยังเป็นผู้ที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิชาการแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการกำหนดตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาการเงินการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการ
บัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของสถาบันทั้งสามโดยรวมและของโครงการ MIF
ดังนั้น โครงการ MIF จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมแสดงความยินดีและความภาคภูมิใจในตำแหน่งทางวิชาการอันทรงเกียรตินี้
โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดสัมมนาทางวิชาการ
เรื่อง "การใช้เทคนิค VaR เพื่อบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลักทรัพย์" ขึ้น ในวันที่ 23 ธันวาคม 2542 โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าร่วม
สัมมนา
วัตถุประสงค์ของการสัมมนา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
* ทิศทางของนโยบายของทางการ ในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลักทรัพย์
* การใช้เทคนิค VaR เพื่อบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ในกลุ่มหลักทรัพย์
* การใช้เทคนิค VaR ในการกำหนดค่าความเสี่ยงเพื่อคำนวณขนาดเงินกองทุนสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์
* การใช้เทคนิค VaR สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ลงทุน ซึ่งซื้อขาย Stock Options,
Index Options และ Derivative Warrants
* การใช้เทคนิค VaR ในการบริหารความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งมีฐานะในหลักทรัพย์อนุพันธ์
ผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 500 คน จากธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งจากสถาบันการเงินต่างๆ บริษัทจัดการลงทุน สำนักงานคณะ
กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งนี้เป็นการ
สัมมนาที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าร่วมสัมมนา
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาควรมีความรู้พื้นฐานทางสถิติ อย่างน้อยในด้าน "การแจกแจงแบบปกติ"
วัน-เวลา และสถานที่สัมมนา : วันที่ 23 ธันวาคม 2542 ระหว่างเวลา 8:00-16:30 น. ณ ห้องประชุมตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 62 ถนนรัชดาภิเษก คลองเตย กทม. 10110
การติดต่อสำรองที่นั่ง : ผู้สนใจสำรองที่นั่งได้ที่ โครงการ MIF คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเลขโทรศัพท์ 613-2246 และ 225-2114 หมายเลขแฟกซ์ 225-2109 e-mail mif@alpha.tu.ac.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
กำหนดการสัมมนา
8:00-8:45 น. ลงทะเบียน
8:45-9:00 น. พิธีเปิดสัมมนาประธานในพิธีเปิดสัมมนา : ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี นายกสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9:00-09:45 น. "นโยบายของทางการ ต่อการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจหลักทรัพย์" โดยดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์
09:45-10:00 น. พักรับประทานกาแฟ
10:00-12:00 น. "การใช้เทคนิค VaR เพื่อบริหารความเสี่ยง" พร้อมตัวอย่างการใช้เทคนิคในการบริหารความเสี่ยงของการลงทุนในกลุ่ม หลักทรัพย์โดย ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ ภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
12:00-13:15 น. รับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัย
13:15-14:15 น. "การใช้เทคนิค VaR ในการกำหนดค่าความเสี่ยงเพื่อคำนวณขนาดเงินกองทุนสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์" โดย ดร.สุรีย์พร ยะมะชิตะ หัวหน้าผู้วิเคราะห์ สำนักวิจัยและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
14:15-15:15 น. "การใช้เทคนิค VaR สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ในการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ลงทุน ซึ่งซื้อขาย Stock Options, Index Options และ Derivative Warrants" โดย ดร.รินใจ ไชยสุต หัวหน้าส่วนวิจัยการพัฒนาตลาดทุนและ เลขานุการ คณะทำงานเตรียมความพร้อมในการดำเนินจัดตั้งตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
15:15-15:30 น. พักรับประทานกาแฟ
15:30-16:30 น. "การใช้เทคนิค VaR ในการบริหารความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งมีฐานะในหลักทรัพย์อนุพันธ์" โดย ดร.สมจินต์ ศรไพศาล
ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด--จบ--

แท็ก โยกย้าย   ตลท.   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ