กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำปลาแพนกาเซียส ดอรี่ (Pangasius Dory) ผ่านการเลี้ยงจากฟาร์มมาตรฐานระดับสากล ให้คุณค่าทางอาหารโปรตีนสูงปลอดภัยและสามารถตวรจสอบย้อนกลับได้ ทำให้ได้ความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ตั้งเป้ายอดขายปีหน้า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจการค้าต่างประเทศ ซีพีเอฟ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯมีการทำการตลาดปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ในไทยมากว่า 5 ปี พบว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ราคาไม่แพง มีรสชาติดี ที่สำคัญมีการเลี้ยงในระบบฟาร์มมาตรฐานสากล
ซีพีเอฟ นำเข้าปลาชนิดนี้จากประเทศเวียดนามที่มาจากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ปลาที่บริษัท ซีพี เวียดนาม เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงและสนับสนุนเทคโนโลยีมาตรฐานสากลในฟาร์ม เช่น Global Gap (Global Good Agricultural Practice) รวมถึงการลงทุนจัดตั้งโรงงานแปรรูปปลามาตรฐานไม่ไกลจากฟาร์ม เพื่อให้ปลาคงคุณค่าทางอาหารและรักษาความสดสะอาดมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทได้ทำการออกแบบเรือขนส่งลักษณะพิเศษคล้ายกระชังเพื่อให้ปลามีชีวิตขณะเคลื่อนย้ายไปจนถึงหน้าโรงงานแปรรูป และลำเลียงสู่โรงงานด้วยระบบทันสมัย
“ปลาชนิดนี้ มีโอกาสในการทำการตลาดสูง เพราะสามารถผลิตได้ทั้งปี ต่างจากปลาทะเลที่จับเป็นฤดูกาลและปริมาณไม่แน่นอน ที่สำคัญมีคุณค่าทางอาหารสูงและปลอดภัย เหมาะกับกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลก” นายพิสิฐ กล่าว
ปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่รายใหญ่ที่สุดโดยผลิตได้1.5 ล้านตัน และมีการส่งออก 650,000 ตันต่อปี มีตลาดส่งออกสำคัญ 9 ประเทศ คือ อเมริกา ยุโรป อาเซียน บราซิล เม็กซิโก จีน ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบียและไทย บริษัทฯยังมีแผนการจะเจาะตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น หลังจากที่เปิดตัวสินค้าไปเมื่อต้นปีนี้
สำหรับ ซีพี เวียดนาม ดำเนินธุรกิจปลาแพนกาเซียส ดอรี่ แบบครบวงจร เพื่อให้สามารถควบคุมการผคุณภาพได้ทั้งห่วงโซ่การผลิตสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ประกอบกับการส่งออกปลาชนิดดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณส่งออกในปี 2555 มีปริมาณ 4,000 ตัน มูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ, ปี 2556 คาดว่าปริมาณจะสูงขึ้นอยู่ที่ 9,000 ตัน เพิ่มขึ้น 125% มูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 15,000 ตัน เพิ่มขึ้น 67% คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีหน้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้สำรวจเข้าสำรวจพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมในประเทศอื่นด้วย เช่น พม่าและกัมพูชา แต่เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมที่สุด
นายพิสิฐ กล่าวว่า การได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วของปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ในประเทศไทย ทำให้ ซีพีเอฟ มีการนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าปริมาณนำเข้าในปีนี้จะอยู่ที่ 2,800 ตัน เพิ่มขึ้น 107% จากปี 2555 และคาดตั้งเป้านำเข้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,500 ตัน เพิ่มขึ้น 132% ในปีหน้า สำหรับประเทศไทยมีกานำเข้าปลาดอร์รี่ปีละประมาณ 12,000 ตัน โดย ซีพีเอฟมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงเค่ 1 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ซีพีเอฟ นำเข้าปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ในลักษณะ ปลาแล่เช่แข็งและปลาแปรรูป ทั้งยังนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปให้เป็นอาหารพร้อมรับประทานหลากหลายเมนู ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วไปโดยมีการจัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า ซีพี ผ่านหลายช่องทาง เช่น ซีพี เฟรชมาร์ท, แม็คโคร, โมเดิร์นเทรด, 7-Eleven และร้านอาหารจานด่วน (Quick Service Restaurant)
นายพิสิฐ กล่าวย้ำว่า ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ นั้นเป็นสายพันธุ์หนึ่งของปลาสวาย แต่ปลาที่นำเข้าเนื้อมีสีขาว เนื้อแน่นและไม่มีกลิ่นคาว เนื่องจากเป็นการเลี้ยงปลาน้ำจืดในระบบฟาร์มมาตรฐานแบบยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากปลาสวายไทยที่มีเนื้อสีเหลือง ไขมันสูงและมีกลิ่นคาว