กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
ปัจจุบันค่านิยมและวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับระบบทุนนิยม ได้กลืนกินความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวในสังคมไทย เพราะต่างก็มุ่งหาคุณค่าทางด้านวัตถุจนหลงลืมคุณค่าในด้านจิตใจ ส่งผลเด็กและเยาวชนมากมายต้องถูกทอดทิ้ง ขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และใช้เวลาว่างไปในทางที่ผิด
“นายโอภาส อุ่นเอม” หรือ “ครูอ้อม” อดีตนักดนตรีสากลมืออาชีพที่ทิ้งเงินแสนมาเป็นครูจิตอาสาสอนศิลปะการแสดงและดนตรีไทย โดยอาศัยทักษะด้านดนตรีที่สั่งสมมาในการศึกษาเรียนรู้ดนตรีไทยด้วยตนเอง และอาศัย “ครูพักลักจำ” นำความรู้มาสอนให้กับเด็กๆ อันมีจุดเริ่มต้นมาจากแววตาและคำพูดของเด็กคนหนึ่งที่นั่งเศร้าอยู่หน้าห้องเรียนดนตรีไทยกระตุ้นความเป็นครูที่อยู่ภายในออกมา
“พอดีมีพื้นฐานด้านกลองยาวสมัยเป็นเด็กวัด ก็เลยได้ไปสอนกลองยาวให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งจนมีชื่อเสียงระดับประเทศ ไปสอนทุกวันก็เห็นเด็กคนหนึ่งก็มานั่งหน้าเศร้าอยู่หน้าห้องดนตรีไทยทุกวัน เลยเข้าไปถามว่าไอ้หนูทำไมถึงไม่เข้าไปเรียน มานั่งทำไมตรงนี้ เขาบอกว่าแม่ไม่มีตังค์ เพราะสมัยนั้นเรียนดนตรีไทยต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ค่าจ้างครูแพง ก็เลยนึกขึ้นมาว่าเราจะทำยังไงให้เด็กเหล่านี้ ได้มีโอกาสเรียนดนตรีไทย ก็เลยเริ่มจากไปหาเครื่องดนตรีเก่าๆ แล้วก็มาเปิดสอนที่บ้าน” ครูโอภาสเล่าย้อนกลับไปในปี 2539 ถึงจุดเริ่มต้นในการสอนดนตรีไทยให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส
โดย “ครูโอภาส” ได้นำดนตรีไทย กลองยาว และศิลปะการแสดงไทยเช่น ลิเก และการรำไทย มาเปิดสอนให้กับเด็กๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยิ่งทำก็ยิ่งสนุกและมีความสุขเมื่อเห็นเด็กได้พัฒนาความสามารถของตนเองขึ้นมา และยังได้รับเชิญให้ไปเป็นครูจิตอาสาสอนวิชาดนตรีและศิลปะการแสดงต่างๆ ของไทยให้กับโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีมากกว่า 10 แห่ง ทั้งในและนอกเวลาเรียน จนมีผลสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ชุมชน และท้องถิ่นมากมาย
ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “ครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ “สสค.” และได้รับการสนับสนุน “ทุนครูสอนดี” ในการจัดทำ “โครงการสืบสานดนตรีไทยและศิลปะการแสดง” เพื่อฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนให้หันสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการเล่นดนตรีไทย แสดงลิเก และเล่นกลองยาว นำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเป็นรายได้พิเศษ
โดย “ครูโอภาส” มีแนวคิดและวิธีในการสอนดนตรีและศิลปะการแสดงไทยที่ทำให้ทุกๆ แห่งที่เคยไปสอนสามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องมีครู แต่ให้องค์ความรู้นั้นอยู่ที่ตัวเด็กและถ่ายทอดผ่านกระบวนการเรียนแบบ “พี่สอนน้อง” จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
“ทำยังไงถึงจะให้ดนตรีไทยได้รับสืบทอด ดังนั้นรุ่นแรกที่มาเราต้องเน้นให้เขา พอเป็นแล้วเราก็จะสอนเขาให้รู้จักคำว่าให้ ไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว เพราะครูมาให้ความรู้พวกเรา เราก็ต้องให้ตอบ เมื่อเป็นแล้วต้องมาช่วยสอนน้องต่อถึงจะได้สืบทอดต่อไป เผื่อวันใดวันหนึ่งครูอาจจะไม่อยู่ ครูอาจจะต้องไป อาจจะป่วยไม่สบาย รุ่นพี่ต้องรับผิดชอบแทนครูได้ ฝึกให้เขาเป็นผู้นำ ฝึกให้เขาเป็นผู้ให้” ครูอ้อมกล่าว
นายธีรศักดิ์ ทรัพย์เนตร หรือ “นนท์” พระเอกลิเกรุ่นใหม่ขวัญใจแม่ยกวัย 19 ปี ลูกศิษย์ของ “ครูอ้อม” ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะลิเกดาวรุ่งวง “น้องนนท์ อเนกลาภ” ถึงแม้จะมีคิวงานค่อนข้างแน่น แต่ก็ยังปลีกเวลามาช่วย “สอนน้อง” เล่นลิเกในวันว่าง เพราะต้องการช่วยปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักรักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่าง “ลิเก” และ “ดนตรีไทย” ซึ่งเป็นของคู่กัน
“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปะการแสดงของไทย และคิดเองว่าคนปัจจุบันคงไม่มีใครอยากดูอยากฟัง แต่จริงๆ แล้วทั้งลิเกและดนตรีไทย ยังได้รับความสนใจจากผู้ชม มีงานเข้ามาตลอดสามารถเลี้ยงดูสมาชิกในวงกว่า 30 คนได้เป็นอย่างดี เพราะลิเกในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงการแสดงให้ทันสมัย มีเนื้อหาการแสดงที่คล้ายคลึงกับละคร และเนื้อเรื่องกระชับถูกใจผู้ชม” น้องนนท์ระบุ
ด.ญ.พรไพลิน พูลสวัสดิ์ หรือ “น้องปอนด์” อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.6 นางเอก “คณะลิเกเด็กวัยใส” ของ โรงเรียนวัดสหราษฎร์บำรุง(วงษ์ กล้าแข็ง) จ.ปทุมธานี เล่าว่าเริ่มเรียนดนตรีไทยและหัดเล่นลิเกมาประมาณ 4 ปี เพราะชอบดูลิเกมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งการแสดงลิเกนั้นสิ่งที่ยากที่สุดก็คือการท่องจำบทและการร้อง เพราะต้องร้องให้ไพเราะและต้องร้องให้เต็มเสียง
“ชอบเล่นลิเกและรำไทยเพราะเป็นกิจกรรมที่สนุกและได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และดนตรีไทยยังเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย เราจึงควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ที่สำคัญเรายังมีรายได้จากการไปแสดงงานต่างๆ เช่นงานวัด หรือไปรำมอญหน้างานศพ และในระหว่างการฝึกซ้อมคุณครูก็จะคอยให้คำแนะนำหรือแง่คิดดีๆ ในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันด้วย” น้องปอนด์กล่าว
ด.ช.ศุภชัย ขันทอง หรือ “น้องน๊อต” อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าปทุมธานี ผู้เล่น “ฆ้องวงใหญ่” เล่าว่าชอบฆ้องเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ควบคุมจังหวะทำให้มีเสียงกังวานไพเราะมากยิ่งขึ้น โดยมาเรียนกับ “ครูอ้อม” ตั้งแต่ชั้น ป.3 ทุกวันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์หลักเลิกเรียนก็จะมาซ้อม โดยคุณครูก็จะเชิญอาจารย์ที่เก่งๆ มาต่อเพลงที่ยากให้กับเรา
“การเล่นดนตรีไทยช่วยพัฒนาสมองให้กับเด็กๆ ได้ เพราะต้องท่องจำโน้ตเพลง จำจังหวะ และมือหรือร่างกายก็ต้องสอดประสานกับความคิด ทุกวันนี้มีงานแสดงดนตรีไทยเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 งาน ส่วนมากก็จะเป็นช่วงค่ำหลังเลิกเรียนกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้ไม่เสียการเรียน และศิลปะการแสดงของไทยทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสมบัติของโลก เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่นำเอาความไพเราะของเสียงจากเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ มาผสมกันเราทุกคนจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์” น้องน๊อตกล่าว
แม้วันนี้ “ครูอ้อม” ของเด็กๆ จะต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายด้วยอาการ “มะเร็งแกนสมอง” แต่ด้วยกำลังใจจากลูกศิษย์ลูกหาตัวเล็กๆ ที่พากันทุบกระปุกออมสินรวบรวมเงินมามอบให้รักษาตัว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีความตั้งใจจะทำหน้าที่ครูในเวลาที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ และอยากจะทำ “ตู้พระธรรมเคลื่อนที่” บันทึกการแสดงลิเกของเด็กๆ ตอน “พระเวชสันดรชาดก” ที่รวบรวมคติธรรมในการดำรงชีวิตไว้มากมาย เพื่อถ่ายทอดข้อคิดดีๆ สู่เยาวชนและสาธารณชน
“เด็กคือแรงบันดาลใจสำหรับครู แล้วกำลังใจของครูอยู่ที่ใคร ก็อยู่ที่เด็ก ถ้าเขาเรียนแล้ว เขาเอาวิชาเราไปใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้าได้นั่นแหละคือความภาคภูมิใจของครู เพราะฉะนั้นกำลังใจในการทำงานจึงไม่ได้อยู่ที่เงิน กำไรของครูคือความรู้ของเด็กๆ ความคาดหวังของผมอย่างมากที่สุดคือเมื่อเขาโตไปขึ้นไปขอให้เขาเป็นคนดีพอแล้ว” ครูโอภาสสรุป.