กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
64,000 คน คือตัวเลขของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือกว่าร้อยละ 8 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 8 แสนคน ที่ สพฐ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกมาระบุว่า “อ่านภาษาไทยไม่ได้” และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้สูงถึง 32,000 คน
โดยแนวทางแก้ไขของภาครัฐที่ออกมามีทั้งจัดการสอนแบบเข้มข้น หรือสอนเสริมในช่วงปิดเทอมเพื่อฟื้นฟูการอ่านของเด็กๆ แต่ในระยะยาวก่อนภาครัฐจะที่ทุ่มงบประมาณลงไป ลองหันกลับมาดูแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของ โรงเรียนวัดวิหารเบิก(กาญจนนุกูล) ที่จังหวัดพัทลุงสักนิด
เพราะที่โรงเรียนแห่งนี้ “ครูสมจิตร ปรางสุวรรณ์” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ด้วยสื่อมัลติมีเดีย” เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กๆ อย่างได้ผล ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แค่มี “หัวใจของความเป็นครู” เท่านั้น
ถึงแม้จะไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาโดยตรง แต่ ครูสมจิตร ปรางสุวรรณ์ ก็อาศัยประสบการณ์กว่า 25 ปี ที่คลุกคลีอยู่กับเด็กในพื้นที่ที่มีปัญหาพูดภาษาไทยไม่ชัด-อ่านภาษาไทยไม่ออกมาตลอด จนค้นพบว่าปัจจัยสำคัญของปัญหานั้นอยู่ที่ “สถาบันครอบครัว” ที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ทบทวนช่วยดูบุตรหลานเมื่อกลับไปที่บ้านเนื่องจากจากภาวะทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องในโลกไซเบอร์ ก็ยิ่งทำให้ทักษะการพูด อ่าน และเขียนของเด็กไทยตกต่ำลง
“ที่ผ่านมาก็ใช้การสอนเสริมเพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่พอมาปี 2546 มีเด็ก ป.4 คนหนึ่งที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สอนเสริมอย่างไรก็ไม่ทันเพื่อน ก็มาคิดว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านั้นที่ทำให้เขาด้อยในเรื่องนี้มากกว่าปกติ เพราะพยัญชนะก็ไม่ได้ สระก็ไม่ได้ จึงเริ่มคิดทำสื่อการสอนเพื่อช่วยเขา เริ่มจากเขียนตัวอ่าน มีตัวหนังสือ และมีรูปภาพฉายขึ้นบนจอ มีคำศัพท์ 10 คำ และสอนคู่กับการทำแบบฝึกอ่านเขียน ทำอยู่สองปี ปีละ 10 เล่มๆ ละ 10 คำ รวมเป็น 20 เล่ม เขาก็อ่านได้เขียนได้ แล้วก็รู้สึกภูมิใจว่าครูครับผมอ่านได้แล้ว ตรงนี้ครูบอกกับลูกศิษย์ตลอดเลยว่าเรียนไม่เก่งไม่เป็นไรลูกแต่ขอให้เป็นคนดีเท่านั้นก็พอแล้ว” ครูสมจิตรเล่าถึงที่มาของสื่อมัลติมีเดีย
สำหรับ “สื่อมัลติมีเดีย” ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ออกเสียงไม่ชัด” ของ “ครูสมจิตร” นั้น สามารถช่วยแก้ปัญหาเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี เพราะการเรียนตามแบบเรียนปกติร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน ไม่สามารถกระตุ้นให้เด็กกลุ่มนี้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบเครื่องมือที่นอกจากจะช่วยให้การเรียนภาษาไทยเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อแล้ว ยังมีความน่าสนใจ สนุก และมีความสุขในการเรียนไปพร้อมกัน
โดย “สื่อมัลติมีเดียเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทย” เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปแบบง่ายๆ ที่ “ครูสมจิตร” เลือกใช้ “ภาพ ตัวอักษร และเสียง” มาใช้ร่วมกันในการพัฒนาทักษะการ ฟัง อ่าน และพูด สำหรับเด็กๆ โดยจะใช้ควบคู่กับ “แบบฝึกเขียน” ในการฝึกเขียนคำศัพท์ โดยเด็กนักเรียนจะได้ทักษะการดูรูปภาพ ดูตัวหนังสือ สังเกตตัวหนังสือ ว่ามีพยัญชนะใดบ้าง แล้วก็สามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจนตามเสียงต้นแบบ
เพียงแค่นักเรียนใช้เม้าท์คลิกไปที่คำศัพท์ หรือรูปภาพต่างๆ ก็จะสามารถฝึกการอ่านตัวสะกด และออกเสียงได้อย่างสนุกและมีความสุขในการเรียนภาษาไทย และ “ครูสมจิตร” ยังได้นำกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” และ “พี่สอนน้อง” มาใช้ในการดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษในช่วงหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ทันกับกลุ่มเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน
ด.ญ.ยุพเยาว์ หมวดจันทร์ หรือ “น้องเยาว์” นักเรียนชั้น ป.6 ที่มาช่วยสอนเพื่อนและน้องๆ ชั้น ป.1 และ ป.4 ที่มีปัญหาด้านการอ่านและเขียนภาษาไทยเล่าว่า โดยมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับคุณครู ในการแนะนำการอ่านออกเสียงคำศัพท์แต่ละตัวว่าอ่านอย่างไร และมีวิธีการสะกดอย่างไร
“มีน้องๆ หลายคนที่มีปัญหาอ่านออกเสียงไม่ถูก สะกดดำไม่ได้ และเขียนได้เป็นบางคำ ก็จะมาช่วยแนะนำว่าแต่ละคำนั้นอ่านออกเสียงอย่างไร มีคำสะกดอย่างไร เขียนอย่างไร โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนในตอนเย็นมาช่วยสอน และยังเป็นการทบทวนความรู้ของตัวเองด้วย” น้องเยาว์กล่าว
ด.ญ.วาสนา หมวดจันทร์ หรือ “น้องฝ้าย” เพื่อร่วมชั้นเดียวกันบอกว่าอยากให้น้องๆ อ่านและเขียนภาษาไทยได้ เพราะน้องไม่ค่อยรู้เรื่อง ทุกวันหลังเลิกเรียนก็จะเอาแบบเรียนมาอ่านให้น้องฟัง และให้น้องอ่านตาม หรือเปิดคอมพิวเตอร์ เมื่อเจอคำศัพท์จากบทเรียนต่างๆ ก็จะให้น้องลองอ่านเองก่อน แล้วค่อยเฉลยวิธีอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง
“สื่อการสอนวิชาภาษาไทยของคุณครูน่าสนใจตรงที่มีเพลงประกอบการเรียน มีวีดีโอเกี่ยวกับสระ พยัญชนะ และตัวสะกด มีการต่ออักษรให้เป็นคำ มีทั้งวิธีการออกเสียง และมองเห็นภาพ ทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า สนุกและได้ความรู้ในเวลาเดียวกัน” น้องฝ้ายเล่าถึงข้อดีของสื่อมัลติมีเดีย
โดยปัจจุบันสื่อมัลติมีเดียและแบบฝึกเขียน ถูกพัฒนาขึ้นมาจำนวน 55 ชุด โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวดคือ “หลักเกณฑ์ทางภาษา” ที่นำมาตราตัวสะกดตรงมาตรา ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา นำมาผสมด้วยตัวสระ หรือ อักษรนำ คำควบกล้ำ อักษรควบไม่แท้ หรือการันต์ และแยกเป็นหมวด “คำกริยาอาการของใช้” เช่นหมวดของใช้ หมวดร่างกาย หมวดคำกริยา หมวดผลไม้ หมวดอาชีพ เป็นต้น เพราะเมื่อเด็กอ่านออก ก็ควรที่จะต้องเขียนได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องนำแบบฝึกเขียนมาใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในแต่ละชุดด้วย โดยสื่อชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้แล้ว ยังช่วยให้เด็กปกติสามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“สื่อมัลติมีเดียและแบบฝึกเขียนที่สร้างขึ้น จุดมุ่งหวังสูงสุดเลยก็คืออยากจะแก้ปัญหาให้กับเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้อ่านออกและเขียนได้ ซึ่งเมื่อได้ทดลองไปแล้วบางส่วน ก็ปรากฏว่าได้ผล เห็นพัฒนาการของเด็กที่ดีขึ้น และคิดว่าเมื่อทดลองเครื่องมือที่สร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะขยายผลไปสู่เครือข่ายครูในจังหวัดพัทลุง แล้วก็เป้าหมายสูงสุดเลยก็คือครูทั่วประเทศไทยที่มีเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ทางด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทย สามารถนำสื่อตัวนี้ไปใช้ได้ โดยตั้งใจว่าจะนำไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถอ่านออกเขียนได้ตามศักยภาพของเขา แล้วก็มีความสุขเมื่อมาโรงเรียน” ครูสมจิตรสรุป.