กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
ท่วงทำนองอันไพเราะของ “เพลงชวา” ที่ดังแว่วมาจากห้องดนตรีไทยของ “โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล” ฝังเผินๆ หลายคนอาจคิดว่าเป็นการซ้อมดนตรีไทยของเด็กทั่วไป แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จะพบว่าผู้ที่นั่งอยู่หลังเครื่องดนตรีไทยแต่ละชิ้นนั้นเป็นเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา ที่แทบไม่มีใครเชื่อว่าพวกเขาจะรวมตัวกันเล่นดนตรีไทยเป็นวงใหญ่ได้ขนาดนี้
และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น “วงดนตรีไทย” ที่มีผู้เล่นเป็น “ผู้พิการด้านสติปัญญา” เพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่เกิดจากความมุมานะมุ่งมั่นและจิตใจที่เสียสละทุ่มเทของครูผู้ที่มีหัวใจรักในดนตรีไทย “นิตยดา อ้อเอก” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ในการจัดทำโครงการ “สื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ดนตรีไทย” ให้แก่เด็กนักเรียนที่บกพร่องทางสติปัญญา ให้สามารถบรรเลงและขับร้องดนตรีไทย เพื่อลบข้อจำกัดและปมด้อยเสริมปมเด่นสร้างศักยภาพให้พวกเขาสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้เนื่องจากเด็กที่บกพร่องด้านสติปัญญามีการรับรู้ที่ช้า จึงทำให้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว “ครูนิตยดา อ้อเอก” จึงได้นำ “ดนตรีไทย” มาใช้เป็นกิจกรรม “ดนตรีบำบัด” โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและความร่วมมือร่วมใจจากเพื่อนครูในการทำงานเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ในการเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ด้านทักษะด้านวิชาการต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยใช้เสียงดนตรีอันไพเราะจากเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ ดึงดูดเด็กที่มีความสนใจให้เข้ามาหา
โดยวงดนตรีไทยของโรงเรียนแห่งนี้ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ อาทิ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ขิมแผ่นหรือขิมเหล็ก โทน รำมะนา กลองแขก อังกะลุง โหม่ง กรับ ฉิ่งฯลฯ โดยเด็กแต่ละคนจะได้เลือกเล่นเครื่องดนตรีที่ตัวเองสนใจได้ตามชอบโดยไม่มีการบังคับ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างความสนใจให้กับเด็ก ไม่มีการแบ่งชั้นเพศหรืออายุ โดยเด็กๆ ทุกคนจะได้เรียนดนตรีไทยทุกวันวันละ 1 ชั่วโมงหลังเลิกเรียนโดยจะมีคุณครูพร้อมดูแลตลอดเวลา
“เทคนิคในการสอนก็คือต้องให้เด็กรักเราก่อน ถ้าเด็กรักเราแล้วเรียกมาง่าย แต่ถ้าเด็กไม่รักแล้วเรียกยังไงก็ไม่มา เพราะว่ามันเหมือนกับการเรียน เป็นอะไรที่ไม่ใช่สนุกสนานอย่างเดียว ต้องอาศัยการจำและทักษะหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นต้องให้ใจรักก่อน อย่างน้อยก็คือให้เขารักครูก่อน ด้วยการพูดกับเขาดีๆ พูดเพราะ ใจดี ใจเย็น แจกขนม ไม่ดุ ไม่ตี” ครูนิตยดาเผยถึงเทคนิคในการสอน
และการเปิดโอกาสให้พวกเขาเลือกเล่นเครื่องดนตรีได้โดยไม่หวง ทำให้ประสบปัญหาเครื่องดนตรีพังไปนับไม่ถ้วน เพราะเด็กยังกะน้ำหนักมือไม่ถูก ซื้อมาใช้ไม่นานก็พังอีก ทำให้ “ครูนิตยดา” ต้องคิดแก้ปัญหาเครื่องดนตรีพังด้วยการออกแบบ “เครื่องดนตรีจำลอง” ที่สร้างขึ้นจากไม้อัด เช่น “ขิมไม้อัด” รวมไปถึงการใช้ “กระดาษเทา-ขาว” มาวาดขึ้นเป็นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกหัดตีตามจังหวะและหัดท่องจำตัวโน๊ต และหาเครื่องดนตรีทดแทน “ขิมสาย” โดยเปลี่ยนเป็น“ขิมเหล็ก” มาใช้แทนที่จะต้องเปลี่ยนสายขิมกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน และที่สำคัญยังต้องสอนแบบซ้ำๆ ย้ำกันชนิดที่เรียกว่าหากเป็นครูปกติทั่วไปคงถอดใจเลิกสอนไปนานแล้ว
“เพราะเด็กของเรามีการรับรู้ที่ช้า เนื่องจากเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา เพราะฉะนั้นการสอนเด็กกลุ่มนี้ต้องสอนแบบสอนซ้ำ ย้ำ ทวน สอนประมาณ 700-800 รอบถึงจะเล่นได้แต่ละเพลง และต้องทวนทุกวัน เพราะว่าถ้าไม่ได้ทวน สองสามวันก็จะลืม ต้องมาทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้น
และที่สำคัญก็คือเราจะต้องให้กำลังใจเขา ต้องใจเย็น ไม่ดุ ไม่ว่า มีแต่ชม มีแต่ยอไว้ ซึ่งแตกต่างกับเด็กปกติที่สอนแค่ 3-4 รอบก็เล่นได้ได้ แต่เด็กของเราไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรอบถึงจะเล่นได้” ครูนิตยดาระบุ
แต่ผลดีที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เด็กๆ จะสามารถร้องและเล่นดนตรีไทยเป็นเพลงต่างๆ ได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการในด้านจิตใจ คือมีอารมณ์ที่สงบเยือกเย็นขึ้น นิ่งมากขึ้น มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถเรียนรู้ในทักษะด้านวิชาการต่างๆ ในชั้นเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
นางกาญจนา กระจ่างโพธิ์ ครูผู้สอนทักษะอาชีพและทักษะด้านสังคม ที่ร่วมกับครูนิตยดาช่วยสอนดนตรีไทยให้กับเด็กๆ ที่บกพร่องทางสติปัญญามานานกว่า 20 ปี เล่าว่า ถ้าเป็นคนปกติทั่วเขาคงไม่สอนแล้วเพราะเด็กกลุ่มนี้สอนยากมาก แต่ครูนิตยดามีความอดทด มีความตั้งใจและความพยายามสูงมาก และมีเทคนิคที่ทำให้เด็กสามารถจำโน้ต และสามารถเล่นเป็นเพลงได้
“เด็กๆ เมื่อได้เล่นได้ฟังดนตรีไทยที่ไพเราะ อารมณ์ของเขาก็จะดีขึ้น เพราะปกติเด็กกลุ่มนี้จะมีอารมณ์แปรปรวน ยิ่งเมื่อได้ไปโชว์ความสามารถเขาก็ยิ่งมีความสุขและอยากที่จะเรียนรู้มากขึ้น การเล่นดนตรีไทยยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเขาจะมีสมาธิ มีและมีความจำที่ดีขึ้น ที่สำคัญยังบูรณาการด้านวิชาการและความรู้ต่างๆ ในระหว่างการสอนดนตรีไทยได้อีกด้วย” ครูกาญจนาระบุ
นางรุ่งฤดี ดวงเงิน ครูผู้สอนทักษะวิชาการและทักษะการสื่อสาร ที่มาช่วยสอนดนตรีไทยเล่าว่า เสียงดนตรีสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กกลุ่มนี้ที่มีใจรักในเสียงดนตรีได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ยินเสียงเพลงก็จะเดินมาหา เราก็จะชักชวนให้เขาเข้ามาร่วมกิจกรรม
“ดนตรีไทยช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ได้เป็นอย่างดี จากเด็กที่เคยอารมณ์ร้าย เครียด เมื่อมาได้เล่นดนตรีไทยก็ผ่อนคลายอารมณ์ดีขึ้น งานที่ครูนิตยดาทำนั้นแสดงให้เห็นว่าความพิการด้านสติปัญญานั้นไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ หลายคนมีพรสวรรค์ด้านนี้เรียนรู้ไม่นานก็สามารถเล่นได้ พอเล่นแล้วก็รักอยากที่จะต่อเพลงใหม่ไปเรื่อยๆ” ครูรุ่งฤดีกล่าว
ผลของการทำงานโดยใช้ดนตรีบำบัดในกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเวลาไปแสดงโชว์ในงานต่างๆ นักดนตรีกลุ่มนี้จะนั่งนิ่งเหมือนเด็กปกติ จนหลายคนดูแทบไม่รู้ว่าเป็นเด็กพิเศษ เพราะถูกฝึกฝนมาเป็นอย่างดีว่า ก่อนเล่นต้องประสานมือไว้ที่ตัก ตอนเล่นต้องนั่งพับเพียบ เวลาเล่นต้องนั่งนิ่งๆ เล่นเสร็จแล้วต้องกราบเครื่องทุกครั้ง ทำให้ลูกศิษย์ของ “ครูนิตยดา” ดูน่ารักและมีมารยาท แต่พอเลิกเล่นแล้วเขาจะหยุกหยิกๆ เดินไปเดินมา ลุกนั่งๆ ตามนิสัยปกติ
“ถึงแม้เขาจะเป็นเด็กพิการแต่เขาก็มีโอกาสที่จะเล่นดนตรีไทยได้ และตอนนี้ความภาคภูมิใจของครู คือเด็กพิการทางด้านสติปัญญาหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาที่สามารถเล่นดนตรีไทยได้มีน้อยมากหรือจะพูดได้ง่ายๆ ว่ามีโรงเดียวของประเทศไทย ซึ่งทำให้ครูภาคภูมิใจมาก แล้วก็บอกกับเด็กๆ ทุกคนว่าว่าหนูต้องภาคภูมิใจนะ เราเป็นโรงเรียนเดียวของประเทศไทยที่สามารถเล่นดนตรีไทยได้” ครูนิตยดากล่าวสรุปอย่างภาคภูมิใจ.