กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
“โคกเจริญ” เป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่เหนือสุดของจังหวัดลพบุรี มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของ “ผ้าทอพื้นเมือง” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันเกิดจากการต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้าแบบโบราณ มาสู่การเป็น “นวัตกรรม” การออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าที่วิจิตรงดงาม จนถูกคัดเลือกให้นำมาตัดเย็บเป็นชุดสำหรับบุคคลสำคัญระดับประเทศ
“นายวินัย ปัจฉิม” ครูศิลปะจาก “โรงเรียนอนุบาลโคกเจริญ” และครูภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าทอมัดหมี่ ผู้คิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรม “ผ้าทอพื้นเมือง” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ได้เล็งเห็น “ศักยภาพ” บนความ “ด้อยโอกาส” ของเยาวชนในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการ “ภูมิปัญญากับการพัฒนางานอาชีพเรื่องนวัตกรรมตำนานผ้าภูมิปัญญาโคกเจริญ” ขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะของเด็กนักเรียนให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพทอผ้า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาด้านเศรษฐกิจความยากจน และปัญหาสังคมหรือครอบครัวในอนาคต สร้างอาชีพสร้างรายได้แม้จะอยู่ที่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุน “ทุนครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี”ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ “สสค.”
โดย “ทุนครูสอนดี” ที่ได้รับถูกนำมาใช้ในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการผลิตผ้าทอในทุกขั้นตอน จนเกิดทักษะและความสามารถเตรียมการผลิตผ้าทอ เพื่อสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียนในช่วงวันหยุดเมื่อไปช่วยทอผ้าที่ “ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย” ของชุมชน
“การทอผ้ามัดหมี่ที่นำเอาทุนของสังคมคือภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน เป็นเหมือนกับการสร้างคน สร้างงาน และสร้างชาติ มีวลีหนึ่งที่ว่า สุภาพบุรุษมัดหมี่ สุภาพสตรีทอผ้า เด็กๆ ปั่นหลา คนชราเลี้ยงไหม ตรงนี้ทำให้เห็นว่าสมาชิกครอบครัวทุกคนได้ทำงานร่วมกัน สามีมัดหมี่ ไปให้ภรรยาทอ ภรรยาทำเสร็จแล้วก็ต้องส่งให้ลูกปั่นหลา ส่วนคนชราที่มักจะคิดว่าตัวเองเป็นปัญหาของสังคม ถูกลูกๆ ทอดทิ้งไม่มีรายได้ เมื่อคนชรามีรายได้ของตัวเอง เขาก็จะอยู่ในครอบครัวอย่างมีความสุข การทอผ้าจึงเป็นงานที่ทำต่อเนื่องกัน ทุกคนมีหน้าที่พึงกระทำซึ่งกันและกัน ก็ทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข ครอบครัวมีความสุข สังคมมีความสุข” ครูวินัยระบุ
โดยการเรียนรู้เรื่องผ้าทอพื้นเมืองจะมุ่งเน้นในเรื่องทักษะชีวิตให้เด็กๆ ได้รู้จักคุณค่าของการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักรักท้องถิ่น รู้จักความกตัญญู รู้จักว่าพ่อและแม่นั้นหาเงินมาได้ด้วยความยากลำบาก และมีความภาคภูมิใจในตัวเองจากผลสำเร็จของงาน
และทอผ้าพื้นเมืองยังสามารถบูรณาการการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการวิชาได้ทั้งหมด ตั้งแต่วิชาประวัติศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ตำนานผ้าจากยุคโบราณถึงปัจจุบัน วิชาคณิตศาสตร์ ในเรื่องของการคำนวณและออกแบบเส้นและลายไหม วิชาศิลปะศาสตร์การออกแบบสีสันและลวดลาย หรือวิทยาศาสตร์ในเรื่องของการผสมสีต่างๆ เพื่อให้ได้สีสันบนผืนผ้า ฯลฯ เพราะฉะนั้นในทุกขั้นตอนการเตรียมการผลิต “ครูวินัย” จึงบอกว่าเป็นจุดที่สามารถต่อยอดให้ความรู้ในด้านต่างๆ กับนักเรียนได้ทั้งหมด
ด.ญ.กัญญารัตน์ ชมพู หรือ “ปูเปรี้ยว” นักเรียนชั้น ป.6 เล่าว่าที่บ้านไม่มีใครทอผ้าและไม่รู้เรื่องผ้าทอมาก่อนจนกระทั่งได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียน ทำให้รู้ว่าผ้าทอมัดหมี่ของชุมชนบ้านโคกเจริญนั้นมีเอกลักษณ์ที่สวยงามไม่เหมือนใครโดยเฉพาะลวดลายและสีสัน
“พอได้มาเรียนก็ทำให้ได้รู้ประวัติความเป็นมาของผ้าทอพื้นเมืองของไทยรูปแบบต่างๆ รู้จักวิธีการออกแบบลายผ้าทอมัดหมี่ การมัดย้อม การค้นไหม การทอผ้า และผ้าทอของเรามีเอกลักษณ์ตรงที่มีจำนวนกลุ่มของเส้นไหมยี่สิบห้าลำที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ” น้องปูเปรี้ยวกล่าว
ด.ญ.วัชรี เพลินศิลป์ หรือ “น้ำฝน” นักเรียนชั้น ป.6 เล่าเสริมว่าในขั้นตอนการเรียนรู้เรื่องผ้าทอทั้งหมดนั้นชอบกระบวนการทอผ้ามากที่สุด เพราะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะได้ผ้าที่สวยงามออกมา แต่กว่าจะได้เป็นผืนผ้าคนทอจะต้องจำทั้งลายผ้า การชักกระสวย และการเหยียบไม้
“ผ้าทอพื้นเมืองเดิมๆ จะไม่มีการผสมสีเป็นสีพื้นๆ แต่ผ้าทอของบ้านโคกเจริญจะมีการผสมสีที่แปลกตาและมีลวดลายที่สวยงาม โดยทุกวันเสาร์และอาทิตย์ก็จะไปช่วยคุณครูที่บ้านเพื่อผลิตผ้าทอในขั้นตอนของการโอบ มัด และย้อมหมี่” น้องน้ำฝนกล่าว
ด.ญ.ทวิกา อวิสุ หรือ “นาเดียร์” และ ด.ญ.อุมพร นิ่มนวล หรือ “แพร” นักเรียนชั้น ป.6 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกภาคภูมิใจกับผ้าทอของบ้านโคกเจริญที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ เพราะตัวเองและเพื่อนๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเตรียมการผลิตในขั้นตอนการมัดย้อมจนเกิดเป็นผืนผ้าทอที่สวยงามขึ้นมา
“ถ้ามีเวลาว่างก็อยากฝึกการทอผ้าให้เก่งขึ้น เพราะนอกจากจะนำไปประกอบอาชีพได้แล้ว ยังช่วยสืบสานงานทอผ้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชุมชนได้อีกด้วย” น้องนาเดียร์กล่าว
โดย “ครูวินัย” เปิดเผยว่า สังคมไทยในปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างมุ่งหวังให้บุตรหลานของตนเองนั้นเรียนจบและทำงานเป็นเจ้าคนนายคนหรือทำงานบริษัท ไม่อยากให้มาทำงานรับจ้างหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหมือนพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่หลุดจากวงโคจรหรือระบบของการศึกษา เนื่องจากปัญหาความยากจน ปัญหาสังคม การมีครอบครัวก่อนวัยอันควร ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้ถ้าเขาได้มีรับการพัฒนาทักษะและมีความสามารถในเรื่องการทอผ้า เขาก็จะสามารถมีรายได้ โดยไม่ต้องรอดินฟ้าอากาศ และไม่จำเป็นต้องเรียนจบในระดับที่สูง
“เพราะการทอผ้าไม่ต้องรอกลางวันกลางคืน ทำที่ไหนก็ได้ ในร่มก็ได้ ในบ้านก็ได้ ใต้ถุนบ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เพราะเมื่อไรที่กี่ดัง สตางค์ก็มา นอกจากนี้การทอผ้ายังเป็นการสร้างทักษะชีวิต เมื่อเรียนแล้วหากไม่ได้นำไปประกอบอาชีพ ก็ยังสามารถนำความรู้ในกระบวนต่างๆ ของการทอผ้าเข้าไปใช้ในวิชาอื่นๆ ได้ เช่นถ้าเป็นหมอก็เป็นหมอที่เย็บแผลสวยมีความเรียบร้อย มีการคิดคำนวณต้นทุนกำไร ซึ่งตรงนี้ก็จะไปเกี่ยวข้องกับทำงานหรือใช้ชีวิต ที่เขาจะสามารถจะวางแผนชีวิตของตัวเองได้” ครูวินัยสรุป.