สอท.หารือกรมศุลฯ ตามผลแก้ไขปัญหาด้านศุลกากร

ข่าวทั่วไป Friday September 26, 1997 16:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--26 ก.ย.--สอท.
นายฉัตรชัย บุญรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเข้าพบอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อหารือและติดตามการแก้ไขปัญหาด้านศุลกากร มีความคืบหน้าหลายประการดังนี้
- การขอคืนอากรภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์อาเซียน หรือโครงการ BBC ของประเทศสมาชิกภาคีอาเซียน ซึ่งมีผู้ประกอบการของไทยได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2532 แต่ทางกรมศุลกากรได้ดำเนินการออกประกาศให้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 ทางผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจึงยังต้องชำระค่าภาษีนำเข้าในอัตราเต็มจนกระทั่งวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ โดยมิได้มีผลย้อนหลัง ทำให้ผู้ประกอบการที่ชำระอากรในอัตราเต็มไปแล้วดังกล่าว มิได้รับอากรส่วนเกินคืน จากการหารือได้รับการชี้แจงว่า การออกประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้รับเงินอากรส่วนเกินคืน จากการหารือได้รับการชี้แจงว่า การออกประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเติมให้ทางกรมฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ
ประเด็นของการได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ระหว่างประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปรากฎว่าประเทศไทยยังเสียเปรียบ ในเรื่องที่ประเทศอื่นมีการควบคุมปริมาณการนำเข้าโดยกำหนดโควต้าหรือกำหนดอัตราเพิ่มเพดานไว้ และจากการที่ฝ่ายไทยมิได้ให้ความสำคัญต่อการดูแลให้มูลค่าการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ มีความสมดุลย์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้นำเข้า-ส่งออกอย่างเสรี ทำให้การแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ เป็นไปในลักษณะที่ประเทศไทยยังเสียเปรียบ เปิดโอกาสให้ฟิลิปปินส์และมาเลเซียใช้ตลาดภายในของประเทศ เป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเทศไทยบางรายไม่อาจใช้ประโยชน์จากโครงการ ในการอาศัยตลาดภายในของฟิลิปปินส์และมาเลเซียเป็นฐานในการเพิ่มการผลิตให้เต็มกำลังการผลิตได้
ประเด็นการผลักดันภาษีไปให้ผู้บริโภค ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีหนังสือรายงานไปตั้งแต่ปลายปี 2539 แล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากเพราะราคาขายรถยนต์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ตามภาวะการแข่งขันในตลาด ประกอบกับการคำนวนกำไรของแต่บริษัทฯ ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังไม่มีกฎเกณฑ์ในเรื่องของอัตรากำไรมาตรฐานที่แน่นอนสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจรถยนต์
นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบถึงจำนวนอากรของผู้ประกอบการในโครงการฯ จะขอคืนย้อนหลังดังกล่าวแล้วปรากฎว่ามีมูลค่าประมาณ 205 ล้านบาท ซึ่งหากมีการคืนอากรส่วนนี้ต้องแจ้งให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรพิจารณาเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต และภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรมศุลกากรจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้ เสนอกระทรวงการคลังพิจารณาว่า สมควรจะคืนอากรให้หรือไม่ หากเห็นควร จะทำการประกาศกระทรวงการคลังลดอัตราอากรย้อนหลังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
- ปัญหาการตีความพิกัดที่สำแดง ซึ่งเกิดกรณีขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ปฎิบัติบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ใหม่ และมีการใช้ดุลยพินิจของตัวเองในการตีความพิกัดเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยปฏิบัติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาระอากรย้อนหลังและเบี้ยปรับเงินเพิ่มในเรื่องนี้ได้รับแจ้งว่ากำลังดำเนินโครงการจัดตั้ง Custom Broker คือ ทางกรมศุลกากรจะควบคุมดูแลให้องค์กรเอกชนเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรต่างๆ เอง และทางกรมฯก็ได้มีการเสนอให้สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นผู้ดำเนินการโดยการจัดตั้ง Broker ตามจำนวนของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งวิธีนี้ จะบรรเท่าปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาการตีความพิกัดได้ หากในระยะแรกยังไม่มีความพร้อม ก็ให้จัดทำในอุตสาหกรรมหลักๆ ที่มีการส่งออกปริมาณมาก ๆ ก่อน
- ผลกระทบการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากร ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เสนอผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดศุลกากรต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 12 กลุ่ม ในการหารือครั้งนี้ อธิบดีกรมศุลกากรได้ แจ้งผลการดำเนินการและการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรม ต่าง ๆ และจะเร่งพิจารณาในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- ทางกรมศุลกากร กำลังเร่งดำเนินการพิจารณา การปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์อะไหล่และชิ้นส่วนเครื่องจักร ให้ลดอัตราอากรนำเข้าเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ตามมติที่ประชุม กรอ. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้เริ่มดำเนินการสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอก่อนแล้วจึงไปดำเนินการในสาขาอื่น ๆ ต่อไป
- การขอรับสิทธิในการลดอากรเหลือร้อยละ 5 ของอัตราที่เรียกเก็บเป็นการทั่วไปสำหรับผู้ส่งออกระดับพิเศษ ตามที่ การแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังที่ 7/2540 กำหนดอัตราการเหลือ 5% ของอัตราที่เรียกเก็บทั่วไป โดยผู้ที่นำของเข้ามาดังกล่าวจะได้รับการจัดลำดับเป็นผู้ส่งออกระดับพิเศษของกรมศุลกากร ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้รับแจ้งจากสมาชิกว่ายังไม่สามารถขอรับสิทธิดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบที่ชัดเจนนั้น จากการหารือได้รับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการออกประกาศระเบียบปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว และได้จัดสัมมนาให้ผู้ประกอบการทราบ เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา
- ปัญหาความล่าช้าในการปฏิบัติตามระเบียบศุลกากร
กรณีปัญหาใบสินค้าขาออกสูญหาย ซึ่งได้มีการปรับปรุงบริการด้านศุลกากร โดยออกระเบียบปฏิบัติกำหนดระยะเวลา การจำลองใบขนฯ ที่แน่นอน และให้สามารถจำลองใบขนฯได้ทันที กรณีใบขนฯ สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่ต้องแจ้งความ สำหรับกรณีใบขนฯ สูญหายโดยผู้ประกอบการเอง จะต้องแจ้งความก่อนแล้วจึงขอจำลองใบขนฯ ได้ทันที ซึ่ง อธิบดีกรมศุลกากร แจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการแก้ไขในกรณีที่ใบขนสินค้าฯ มุมน้ำเงินฉบับต่างๆ สูญหาย โดยผู้ประกอบการสามารถใช้สำเนาใบแนบใบขนฯ ที่ผู้ประกอบการได้รับจากกรมฯ ซึ่งได้รับรองสำเนาถูกต้องไว้แล้วใช้แทนได้ในทุก ๆ กรณี
รวมทั้งในเรื่องการคืนอากรโดยมาตรา 19 ทวิ ที่มีข้อกำหนดเดิมให้ผู้นำเข้าจะต้องผลิตสินค้าส่งออกให้ครบหมดทุกใบขนสินค้าฯ จึงจะขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิได้ ซึ่งขณะนี้ ทางกรมฯ หาแนวทางที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถขอคืนอากรเป็นรายใบขนฯ ได้ โดยในระยะแรกจะเริ่มหารือกับธนาคารกรุงไทยให้เข้ามารับประกันใบขนฯ ต่อกรมศุลกากรในลักษณะใบต่อใบ และหากไม่ติดขัดปัญหาใด จะขยายไปสู่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปในอนาคต สำหรับการผ่านพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกของคลังสินค้าทัณฑ์บน ที่ต้องทำการผ่านพิธีการ ณ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพฯ แล้ว จึงดำเนินการตรวจปล่อยของที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการนำเข้าเร่งด่วน การผ่านพิธีการดังกล่าวไม่เสร็จภายในกำหนดนั้น ทางอธิบดีกรมศุลกากร ก็รับที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้ปฏิบัติได้คล่องตัวขึ้น รวมไปถึงจะปรับปรุงในเรื่องที่ทำให้เกิด ความเสียหายจากขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้า ที่เกิดการเซ็นสลักหลังของนายตรวจไม่ครบถ้วน และผู้ส่งออกต้องกลับไปหานายตรวจเดิม
ในการเข้าพบกับอธิบดีกรมศุลกากรครั้งนี้ นายฉัตรชัย ยังได้แจ้งเพิ่มเติมอีกว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เสนอเรื่องความตกลงลดอัตราอากรระหว่างประเทศในภาคี ASEAN ตามข้อตกลง AFTA โดยมีการกำหนดระยะเวลาและอัตราอากรที่จะต้องลดตามโครงสร้างที่แน่ชัด แต่ระยะที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกต่าง ๆ หลายประเทศไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งยังมีการขึ้นภาษีสินค้าอีกจำนวนมากให้ทางกรมศุลกากรนำไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อนำเข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจโดยด่วนอีกด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ