กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
94 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย เชื่อว่าตนขับรถปลอดภัย แต่ในความเป็นจริง ผู้ขับขี่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่เสี่ยงอันตราย
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้ขับขี่มักจะประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยงภัยในระดับต่ำเกินไป สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการขับขี่เพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีต่างๆ ของฟอร์ด อาทิ ซิงค์ ระบบช่วยเตือนการขับรถให้อยู่ในช่องทาง และระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) มีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในการขับขี่ได้
หากลองถามผู้ขับขี่รถยนต์ในประเทศไทยว่าพวกเขาคิดว่าตนเองมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่ปลอดภัยหรือไม่ ส่วนใหญ่... มากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ จะตอบว่าตนขับรถได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำขึ้นโดยฟอร์ดกลับชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นอาจแตกต่างจากสิ่งที่เราเชื่อ เพราะผู้ขับขี่ในประเทศไทยมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่เสี่ยงอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วกว่าอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด การคุยโทรศัพท์ขณะขับรถ ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่งหน้า และขับรถขณะมึนเมา
การสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับพฤติกรรมในการขับขี่และทัศนคติที่ผู้ขับขี่มีต่อความปลอดภัยและเทคโนโลยีในรถยนต์ แสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่จำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการขับขี่บางประการ แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้ขับขี่ชาวไทยมีความสนใจในเทคโนโลยีในรถยนต์ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้
“ผู้ขับขี่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในทักษะการขับขี่ของตนเองสูงเกินไป และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมในการขับขี่ที่เสี่ยงภัยในระดับต่ำเกินไป ผู้ขับขี่ในประเทศไทยก็มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน” นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว “จากข้อมูลที่เรามีอยู่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารกับผู้ขับขี่ถึงพฤติกรรมการขับขี่และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในรถยนต์มากขึ้น”
ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ขับขี่ชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าตนขับรถปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ขับขี่จำนวนมากยังขาดสมาธิในการขับรถ และมีพฤติกรรมวอกแวกต่างๆ อาทิ การคุยโทรศัพท์มือถือ (76 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่ผู้ขับขี่อีกถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
นอกจากพฤติกรรมที่รบกวนสมาธิในการขับขี่แบบต่างๆ แล้ว ผลสำรวจยังเผยด้วยว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ในประเทศไทยมักจะขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 28 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่เพศหญิงยังยอมรับว่าตนแต่งหน้าขณะขับรถอีกด้วย และในบางครั้งพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนนก็เกิดจากจากความอ่อนล้า โดย 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ชาวไทยยอมรับว่าตนเคยขับรถขณะง่วงนอน ขณะที่ 31 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ยอมรับว่าตนมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นั่นคือการขับรถหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ไม่เพียงแต่การขับรถเท่านั้น การจอดรถก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงสำหรับผู้ขับขี่บางส่วน โดย 74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าตนเคยถอยรถชนวัตถุที่อยู่ด้านหลังขณะถอดรถเข้าจอด
“เป็นที่ชัดเจนว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัยและการยกระดับความตระหนักรู้ถึงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเชื่อว่าโครงการฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย หรือ Driving Skills for Life ที่เป็นกิจกรรมหลักของของฟอร์ดเป็นโครงการที่สำคัญ” นางสาวยุคนธร กล่าว “เราพยายามที่จะชี้นำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้ขับขี่”
การสำรวจของฟอร์ดในครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างทัศนคติของผู้ขับขี่และพฤติกรรมในการขับขี่จริงแล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังเผยด้วยว่าผู้ขับขี่ชาวไทยมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจช่วยให้ตนตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่และเป็นนักขับขี่ดีขึ้นกว่าเดิม
จากผลสำรวจดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เผยว่าตนสนใจเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง อาทิ ระบบเชื่อมต่อการสื่อสาร ฟอร์ด ซิงค์ ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถได้โดยไม่ต้องปล่อยมือออกจากพวงมาลัยหรือละสายตาออกจากถนน ปัจจุบัน ฟอร์ดนับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งด้านการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาติดตั้งในรถหลายรุ่นที่วางจำหน่ายในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของได้
“การที่ผู้ขับขี่ถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าการรับโทรศัพท์ขณะขับรถเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะมองหาวิธีการตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว โดยไม่ทำให้ความปลอดภัยในการขับขี่ลดลง” นางสาวยุคนธร กล่าว “อีกสิ่งหนึ่งที่ผลสำรวจนี้แสดงให้เราเห็น นั่นคือ การที่ผู้ขับขี่ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง และยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัยที่มากกว่า”
สำหรับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ผู้ขับขี่ต้องการนั้น มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานไปจนถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่ถึง 87 เปอร์เซ็นต์เผยว่าตนจะยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อรถที่มีถุงลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ผู้ขับขี่ถึง 82 เปอร์เซ็นต์เผยว่าตนมีความสนใจเทคโนโลยีที่ช่วยไม่ให้รถเฉไปยังเลนอื่นบนนถนน อย่างเช่นระบบช่วยเตือนการขับรถให้อยู่ในช่องทางหรือ Lane Keeping Assistของฟอร์ด
และเมื่อผู้ขับขี่ต้องเผชิญกับการพยายามถอยรถเข้าช่องจอดท่ามกลางการจราจรหนาแน่น 43 เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนสนใจเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการช่วยเตือนกรณีที่มีวัตถุหรือสิ่งกีดขวางอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดบอดหรือยากต่อการมองเห็น
“หากเรามองไปให้ไกลกว่าความมั่นใจแบบเกินตัวของผู้ขับขี่แล้ว เราจะเห็นว่า อันที่จริงผู้บริโภคต่างใส่ใจต่อความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างมาก และแต่ละคนก็พยายามจะเป็นผู้ขับที่ดี และขับรถอย่างปลอดภัยมากขึ้น สำหรับฟอร์ด เราเชื่อว่าการให้ความรู้ควบคู่กับการนำเสนอเทคโนโลยีอันทันสมัยจะมีส่วนอย่างมากในการทำให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนในประเทศไทยมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น” นางสาวยุคนธร กล่าว