กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ซีพีเอฟ
นายประทีป เผือกฟัก วัย 59 ปี ประธานเครือข่ายลูกค้า ธกส. อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร “ป่ามะพร้าวฟาร์ม” เปิดเผยว่า การเข้าร่วมเป็นเกษตรกรในโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2536 หรือกว่า 20 ปีที่แล้ว ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะสามารถช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตนเริ่มต้นเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ 80 ตัว กระทั่งปัจจุบันสามารถขยายการผลิตเพิ่มเป็น 250 ตัว สร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 8 หมื่นบาท
ทั้งนี้ นายประทีป เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรพันธุ์ แบบประกันรายได้ โดยได้ศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกับบริษัทอย่างละเอียด และพบว่าโครงการนี้มีจุดเด่นที่เป็นระบบการแบ่งงานกันทำ ภายใต้การทำสัญญาข้อตกลงระหว่างบริษัทกับเกษตรกรอย่างเป็นธรรม มีการกำหนดรูปแบบการเลี้ยง การจัดการ การให้ผลตอบแทนการผลิตไว้อย่างดี ทำให้เกษตรกรรู้ถึงหน้าที่ของตนเอง มีแนวทางการประกอบอาชีพที่ชัดเจน ตลอดจนรู้ว่าจะพัฒนาตนเองและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดี เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอนได้อย่างไร ขณะเดียวกันไม่มีความเสี่ยงว่าผลิตสุกรออกมาแล้วจะขายไม่ได้ราคา
“บางคนไม่กล้าขยายการเลี้ยงหรือลงทุนด้านเทคโนโลยีเพราะกลัวว่าจะมีหนี้สิน แต่ผมกลับไม่มองอย่างนั้น หากมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำอาชีพนี้ให้ยั่งยืนสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการพัฒนา จะให้ย่ำอยู่กับที่เลี้ยงหมูในเล้าเปิดเหมือนเดิมคงไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน การจัดการเปลี่ยนหมด เกษตรกรควรจะก้าวทันโลกตามทันเทคโนโลยี และไม่หยุดหาความรู้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาอาชีพได้” นายประทีปกล่าวและว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิด หรือ อีแวป เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่ใช่การสร้างหนี้เพิ่ม เพราะโรงเรือนนี้ ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น สุกรเจริญเติบโตได้ดีและไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะอากาศที่ผันผวน เมื่อสุกรมีสุขภาพที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา จึงเรียกว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตสุกรด้วยซ้ำ
ด้าน นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจครบวงจรภูมิภาค ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทนำระบบบริหารจัดการเกษตร ที่เรียกว่าคอนแทรคฟาร์มมิ่ง มาดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย มากว่า 38 ปี นับตั้งแต่ปี 2518 ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนราว 5,000 รายทั่วประเทศ ครอบคลุมการเลี้ยงสัตว์ทั้งไก่กระทง ไก่ไข่ สุกรพันธุ์ และสุกรขุน หรือ คิดเป็น 99% ของเกษตรกรทั้งหมด
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า บริษัทมีแนวคิดในการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับตนเอง พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ที่ผ่านมาบริษัทมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่เกษตรกร และนวัตกรรมใหม่ๆบางอย่างก็เกิดจากแนวคิดของเกษตรกรเอง โดยมีการขยายผลนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกรรายอื่นๆทั่วประเทศ เกษตรกรจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตคุณภาพ เป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนในการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค
“หัวใจของระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งคือการทำธุรกิจ ที่เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ภายใต้การผลิตที่ได้มาซึ่งมาตรฐานอาหารปลอดภัย อันเป็นระบบมาตรฐานที่บริษัทจำเป็นต้องกำหนดให้เกษตรกรร่วมปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิต และความปลอดภัยในอาหาร เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน และอาชีพที่มั่นคง รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายณรงค์กล่าวและว่า เกษตรกรในโครงการของซีพีเอฟในปัจจุบัน มีหลายรายที่เป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิกและยังคงดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกับบริษัท และมีเกือบ 50% ที่ร่วมงานมานาน 10-25 ปี แต่ละรายประกอบกิจการไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีบางรายที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่ก็เพียงไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรที่ซีพีเอฟดูแล.