กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนกองทัพติดโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในฐานปฏิบัติการแนวชายแดนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานทางทหารตามแนวชายแดน เพื่อปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า โดยที่ปัจจุบันไฟฟ้าที่นำมาใช้งานในฐานปฏิบัติการนั้น มาจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว ยังตกเป็นเป้าโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเนื่องจากเสียงดัง
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 42 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่หน่วยงานทหารในเขตพื้นที่ชายแดน ให้มีไฟฟ้าใช้ในการปฏิบัติภารกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับฐานปฎิบัติการทางทหาร ปี 2557” โดยได้ตั้งเป้าหมายในการติดตั้งรวมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 137 กิโลวัตต์ ในระยะเวลา 12 เดือน
ทั้งนี้ จะมีการดำเนินงานใน 2 ส่วนคือ 1.จัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของฐานปฏิบัติการทหารในเขตชายแดน (ทหารบก) โดยเน้นพื้นที่ดำเนินการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 180 ระบบ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 112.5 กิโลวัตต์ และ 2.จัดซื้อระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยปฏิบัติการทหารเรือในเขตชายแดน ได้แก่ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 16 ฐานปฏิบัติการ และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง จำนวน 8 ฐานปฏิบัติการ รวมจำนวนระบบที่สนับสนุน 28 ระบบ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 24.5 กิโลวัตต์
“กองทุนฯ คาดว่าผลที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ประจำฐานปฎิบัติการทางทหารตามแนวชายแดนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้มีไฟฟ้าสำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากทำการติดตั้งได้ตามเป้าหมาย 137 กิโลวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการประหยัดปีละประมาณ 640,000 บาท และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ 96,560 ตันคาร์บอน/ปี” นายเสมอใจกล่าว