กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
Caux Round Table(โคซ์ ราวนด์ เทเบิ้ล)เครือข่ายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก หอการค้าไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)รวมพลังจัดประชุมระดับโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนครั้งแรกที่ให้ความสำคัญด้านจริยธรรมในภูมิภาคอาเซียน “The 2013 Bangkok Conference: Global Dialogue on Sustainable Development” ผู้บริหารจากทั้งภาคธุรกิจไทย ต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคมกว่า 1,000 คน ร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดและประสบการณ์ ร่วมถกแถลงหา “หนทาง” ให้ประเทศไทยและทั่วโลก ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทศพิธราชธรรมในมุมมองที่เป็นที่ยอมรับในสากลโลก
การประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีผู้บริหารจากทั้งภาคธุรกิจไทย ต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงาน และผู้นำชุมชน กว่า 1,000 คน มารวมตัวกันเพื่อร่วมถกแถลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีการนำนวัตกรรมการสัมมนาที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาใช้ระดมความคิด เช่น World Caf? การระดมความคิดในหมู่ธุรกิจแนวหน้าของโลก และ Socratic Dialogue วิธีการหาคำตอบอันโด่งดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ด้วยการ “ตั้งคำถาม” เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้ร่วมคิดอย่างรอบด้าน และนำไปสู่คำตอบร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจและภาคประชาคม นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทย และทูตองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย แสดงความกังวลต่อวิกฤตการณ์ของโลกสามประการ อันได้แก่การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ลัทธิทุนนิยมที่ขาดการควบคุม และปัญหาความอดอยากหิวโหยเรื้อรังซึ่งประมาณหนึ่งในแปดของประชากรโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่
นายอานันท์ย้ำว่าเพื่อบรรลุแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโลกต้องการแนวคิดที่มีพื้นฐานอยู่บนคุณค่าหลักร่วมกันของบรรดาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการกรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงคงความสำคัญอย่างเร่งด่วน
Noeleen Heyzer เลขาธิการสตรีคนแรกของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชีย และแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) กล่าวว่าไม่มีประเทศหรือภูมิภาคใดที่จะประสบความสำเร็จได้ ถ้าทั้งสามภาคส่วนได้แก่ รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนในประเทศ ไม่เปิดรับความเป็นเอกภาพของมนุษย์ ความรับผิดชอบและผลประโยชน์ร่วมกัน “การพัฒนาอย่างยั่งยืนในวันนี้ โลกต้องการรูปแบบใหม่ของการสร้างพันธมิตรและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนซึ่งสะท้อนอยู่ในแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง 4 ประการประกอบด้วย 1) วิสัยทัศน์ที่ยาวไกลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Declaration) 2)เป้าประสงค์และเป้าหมายที่กระชับชัดเจนในการปฏิบัติตามลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้ในวาระ 3) ความเป็นภาคีระดับโลกเพื่อการพัฒนาเพื่อการระดมแนวทางการดำเนินงานแบบต่าง ๆและกรอบการติดตามผลความคืบหน้าและกลไกเพื่อการตรวจสอบได้ร่วมกันสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
Gayle C. Avery ศาสตราจารย์ประจำ Macquarie Graduate School of Management และผู้อำนวยการInstitute for Sustainable Leadershipกล่าวถึง แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ “Honeybee and Locust” (ผึ้งและตั๊กแตน)แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบผึ้งมีความสอดคล้องอย่างมากกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย และแนวคิดจริยธรรมสังคม ซึ่งจะนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ และยังมีส่วนส่งเสริมความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมวลชนและโลกด้วย"
Avery ยังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบตั๊กแตนซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบผึ้งว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบตั๊กแตนที่มุ่งเน้นแต่เรื่องประสิทธิภาพ การตัดลดต้นทุน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำให้ทรัพยากรลดน้อยลงเพียงเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดในระยะสั้น “องค์กรที่ดำเนินธุรกิจแบบผึ้งและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลุ่มนี้มักจะพิจารณาผลต่อเนื่องที่อาจเกิดจากการตัดสินใจหรือการกระทำใดๆ ในทุกเรื่องต่อผลประโยชน์ที่หลากหลาย โดยพยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบในด้านลบต่อองค์กร ผู้คน สิ่งแวดล้อม สังคมและทรัพยากรของโลกที่กำลังลดน้อยถอยลงทุกขณะ” Avery กล่าว
Michael J. Sandel ศาสตราจารย์ชื่อดังด้านปรัชญาการเมืองและความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และผู้ประพันธ์หนังสือที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมไปทั่วโลก “What Money can’t buy” “อะไรที่เงินไม่สามารถซื้อได้” ด้วยเนื้อหาถกประเด็นเน้นจริยธรรมในการดำรงชีวิตของคน รวมทั้งแสดงความห่วงใยสำหรับตลาดโลก ที่ได้แปรเปลี่ยนจากตลาดเศรษฐกิจกลายเป็นตลาดสังคมไปแล้ว ทำให้ทุกอย่างในโลกเป็นเพียงสินค้าที่ใช้เงินซื้อขายได้ และยังได้ตั้งคำถามสำคัญที่ปลุกจิตสำนึกผู้เข้าร่วมประชุมให้มองไปรอบตัวว่า “เราต้องการสังคมที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถใช้เงินซื้อขายใช่ไหม? หรือว่าพลเมืองจะยังมีจิตสำนึกของจริยธรรมและศีลธรรมที่เงินก็ไม่สามารถซื้อหาได้?”
Sandel กล่าวว่า แนวคิดของความยุติธรรมสำหรับคนรุ่นต่อไป เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเราได้เห็นถึงการพัฒนาด้านคุณธรรมของพฤติกรรมร่วมกัน การทำความดีร่วมกัน และการมีภาระผูกพันต่อบุคคลอื่นในสังคมเสรี ข้อจำกัดของจริยธรรมของตลาดและการเข้าไปมีส่วนร่วมเชิงจริยธรรมนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะได้มาซึ่งความยุติธรรม
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงสืบสานแนวพระราชดำริผู้ได้รับเชิญในเวทีระดับโลกเพื่อถ่ายทอด
ประสบการณ์ได้นำเสนอเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปใช้กับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนแสดงให้เห็นว่าโครงการที่รับพระราชทานริเริ่ม สามารถให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้ ภายใต้การพัฒนาชุมชนใน "โมเดลสามขั้นตอน" การรอยู่รอด ความพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน"เราได้เรียนรู้ปัญหาของพวกเขาอย่างอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น และนำเสนอทางออกเพื่อความอยู่รอดของคนในชุมชนซึ่งทำให้เราสามารถเข้าไปเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชนชนบท”ม.ร.ว. ดิศนัดดากล่าว
พร้อมกันนี้ในภาคบ่าย ยังได้แบ่งการประชุมเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม เพื่อร่วมถกแถลงแลกเปลี่ยนหาแนวทางปฏิบัติเครื่องมือและการแก้ปัญหา ของทุกภาคส่วน เพื่อหาหนทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมระดมความคิดในแต่ละกลุ่ม
กลุ่มที่ 1: “Challenges in Global Sustainable Development Efforts” (การประเมินภาพรวม กฎระเบียบ แนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากทั่วโลก)เป็นการติดตามความคืบหน้าของความพยายามทางด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและการกำหนดกรอบแนวทางในอนาคต ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้นำผลงานวิจัยหลายชิ้น พร้อมทั้งประสบการณ์ที่เกิดจากการสั่งสมจากการทำงานและการตกผลึกใหม่ทางแนวความคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสนองตอบความท้าทายที่คนรุ่นหลังกำลังเผชิญ
กลุ่มที่ 2 “Identifying and Tackling Obstacles to Sustainable Futures in the Business Sector”
(เครื่องมือและการแก้ปัญหาอุปสรรคและความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจในอนาคต)โดยหัวข้อนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการบรรยายของ Prof. Avery ในเรื่องผลลัพธ์ทางธุรกิจ ผลลัพธ์ของความแตกต่างและความก้าวหน้าทางสังคมที่เกิดจากแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบผึ้งและตั๊กแตน ด้วยกระบวนการการโต้ตอบในระหว่างประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมกันหาคำตอบให้กับคำถามที่เกี่ยวกับการปฏิบัติว่า “เราจะสามารถเปลี่ยนอุปสรรคที่ฝังแน่นให้เป็นตัวผลักดันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างไร
กลุ่มที่ 3 “Mindsets for Sustainable Development” (จิตสำนึก และจริยธรรมเพื่อความเป็นธรรมในสังคม)สำรวจหลักการด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมอย่างแท้จริง และความแตกต่างระหว่างความคู่ควรทางจริยธรรมตามคำสอนของอริสโตเติ้ลรวมถึงสนทนาพูดคุยเรื่องนัยสำคัญของทฤษฎีความยุติธรรมของ จอห์น รอสส์ ซึ่งเป็นทฤษฎีทีมีอิทธิพลอย่างมาก การประยุกต์ใช้และความเกี่ยวข้องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กลุ่มที่ 4 “Features and Challenges in Area Based Sustainable Community Development”(บทบาทภาคธุรกิจกับการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง) โดยศึกษาจากคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคนไทย ถ่ายทอดการแก้ปัญหาในกลุ่มผู้ปฎิบัติและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาอุปสรรคและความท้าทายต่างๆโดยใช้วิธีในระดับท้องถิ่นปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดการปัญหาในระดับประเทศ
กลุ่มที่ 5 “Measuring and Monitoring Sustainable Development: Guiding Global Development through Strong Evidence” (การวัดผล และประเมินการพัฒนาอย่างยั่งยืน)โดยในหัวข้อนี้จะได้มีการสนทนาเกี่ยวกับความพยายามในปัจจุบันที่จะชี้วัดและติดตามการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้ให้แนวทางที่โลกจะได้รับผลประโยชน์จากการมีกรอบการทำงานในการวัดผลที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล และชมการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ ได้ที่: www.SDglobaldialogue.com หรือ call center โทร. 02 787-7168-9