กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--การบินไทย
“การบินไทย” เตรียมปรับราคาค่าโดยสารภายในประเทศ ในบางเส้นทาง 200-300 บาทต่อเที่ยวบิน มีผล 1 พฤศจิกายนนี้ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามานาน เหตุต้นทุนการบริหารต่างๆปรับสูงขึ้น ผู้บริหารเผยยังต้องรับภาระขาดทุนอีกบางส่วน คาดสายการบินอื่นปรับราคาตาม เพราะการบินไทยได้ชะลอการปรับราคาบัตรโดยสารมานานแล้ว
นายวสิงห์ กิตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยจะปรับอัตราค่าโดยสารภายในประเทศในบางเส้นทาง อีก 200-300 บาท ต่อเที่ยวโดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2544
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่างๆปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบินไทยได้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นดังกล่าว แม้ว่าจะปรับราคาขึ้นมาแล้วการบินไทยก็ยังขาดทุนจากค่าใช้จ่ายในการบริการอื่นๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง
“ราคาค่าโดยสารภายในประเทศของการบินไทยถือว่าไม่สะท้อนต้นทุน และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยปรับราคา หากเทียบกับสายการบินเอกชนอื่นๆที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งที่ต้นทุนของการบินไทยสูงกว่ามาก และเมื่อเทียบในเรื่องการบริการ เวลาในการเดินทาง และความปลอดภัยแล้วต้องถือว่าการบินไทยคิดราคาอัตราค่าโดยสารที่ต่ำมาก” นายวสิงห์กล่าว
ทั้งนี้เส้นทางที่จะทำการปรับราคาค่าโดยสารได้แก่ เส้นทาง เชียงใหม่, หาดใหญ่ และภูเก็ต จะปรับราคาขึ้นเที่ยวบินละ 200 บาท ส่วนเส้นทางเชียงใหม่ไปยังภูเก็ต จะปรับราคาเพิ่มขึ้นเที่ยวบินละ 400 บาท
สำหรับเส้นทาง ขอนแก่น, กระบี่, นครศรีธรรมราช, พิษณุโลก, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, อุบลราชธานี และอุดรธานี จะปรับราคาขึ้นเที่ยวบินละ 300 บาท และ Feeder Route ในเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ปรับราคาจาก 765 บาท เป็น 1,000 บาท
นายวสิงห์ กล่าวต่อว่า การบินไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานขนส่งทางอากาศ เพื่อขอปรับราคาดังกล่าวแล้ว ซึ่งคาดว่าคงไม่มีปัญหา เนื่องจากการบินไทยขอปรับอัตราค่าโดยสารต่อระยะทางโดยเฉลี่ยประมาณ 4.19 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งไม่เกินที่ขนส่งทางอากาศกำหนดไว้ที่ 6.82 บาทต่อกิโลเมตร ยกเว้นเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนที่เกินจุดที่ขนส่งทางอากาศกำหนดคือ 8.33 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งได้ทำการขออนุมัติไปแล้ว
“เส้นทางเหล่านี้เราขาดทุนมานานแล้ว จึงต้องมีสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาทำการบิน แต่ถ้าเทียบกับสายการบินเอกชนรายอื่นๆที่ทำการบินในประเทศจะมีราคาสูงกว่าการบินไทยมาก เราจึงจำเป็นต้องปรับราคาเพื่อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และการบินไทยสามารถอยู่ได้โดยไม่รับภาระขาดทุนมากเกินไป ซึ่งคาดว่าสายการบินเอกชนอื่นๆในประเทศก็คงต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นตาม สืบเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสูงขึ้นเช่นเดียวกัน” นายวสิงห์กล่าว
ฝ่ายส่งเสริมการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)
โสรยา พงษ์ประยูร โทร.01-697-9100
พรมสันต์ จิตรนาศิลป์ โทร.01-562-7360--จบ--