กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเด็กหญิง"ในเวทีการเฉลิมฉลองวันเด็กหญิงสากลทั่วโลก และการนำเสนอรายงานพิเศษ โครงการ เพราะฉันคือเด็กผู้หญิง Because I am a Girl 2013 ณ โรงแรมแมริออท สุขุมวิท กรุงเทพฯ
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกได้ถูกปรับเปลี่ยนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การปฏิวัติทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากความผันแปรตามธรรมชาติหรือจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ อาทิ น้ำท่วม ไฟป่า ล้วนเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติมีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบซึ่งกัน และกัน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันสภาพการณ์ได้เปลี่ยนไป เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศผันผวนไปทั่วโลก เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมจากมวลน้ำที่มากมายมหาศาล และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญกับการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบมากขึ้น ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ เจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การล่วงละเมิดทางเพศ การพลัดพรากจากบิดามารดาหรือญาติ และการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเด็กหญิงได้รับโอกาสและการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวจากภัยพิบัติต่างๆ ก็จะทำให้เด็กผู้หญิงมีความแข็งแกร่ง มีภาวะผู้นำ สามารถปกป้องและช่วยเหลือตนเอง ชุมชน และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
นางปวีณา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กผู้หญิง โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดโครงการฝึกอบรมการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติให้แก่เด็กและเยาวชนหญิง รวมทั้งร่วมกับองค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศจัดทำคู่มือการคุ้มครองเด็กภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เด็กและเยาวชนหญิงมีความรู้และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้.