ไบโอเทค นำปลาดัดแปลงพันธุกรรมมาแสดง

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 31, 2005 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ นางดรุณี เอ็ดเวิร์ส รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค เปิดเผยว่า ในการจัดงานไบโอไทยแลนด์ ๒๐๐๕ ระหว่างวันที่ ๒ ถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ไบโอเทค นำปลาม้าลายเรืองแสง ซึ่งเป็นปลาดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จากประเทศสิงคโปร์เข้ามาแสดง จำนวน ๗๐ ตัว ซึ่งขณะนี้ ได้รับอนุมติจากกรมประมงแล้ว สำหรับมาตรการควบคุมและดูแลไม่ให้ปลาหลุดลอดออกไปในธรรมชาติ คือ หลังจากเสร็จงานไบโอเทคจะปล่อยให้ปลาตายตามธรรมชาติเอง จากนั้นจะแช่ฟอร์มาลินเก็บซากส่งให้กับกรมประมงตรวจสอบตามจำนวนที่นำเข้ามา นางดรุณีฯ กล่าวด้วยว่า น่าเสียดายดอกคาร์เนชั่นสีน้ำเงิน จากประเทศออสเตรเลียยังติดขัดขั้นตอนทางเอกสาร จึงไม่ได้รับอนุญาตจากทางกรมวิชาการเกษตรให้ นำเข้า คนไทยจึงไม่ได้เห็นดอกไม้ชนิดนี้ เพราะดอกคาร์เนชั่นถือเป็นดอกไม้ชนิดแรกๆ ที่ผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรมแล้ว และเริ่มมีการปลูกในประเทศโคลัมเบียบ้างแล้ว
ด๊อกเตอร์ ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทะเลและน้ำจืดกองทุนสัตว์ป่าโลก(WWF) ประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลากล่าวว่า ช่วง ๓๐ ปี ที่ผ่านมา แม้จะมีนักเลี้ยงปลาตู้นำปลาม้าลายมาเลี้ยง แต่ไม่เคยพบว่ามีการระบาดออกไปสู่สภาพธรรมชาติ เพราะปลาชนิดนี้ไม่สามารถอยู่ในธรรมชาติได้อยู่แล้ว ไม่เหมือนปลานิลหรือปลาหางนกยูง ส่วนในแง่ความเป็นวิชาการ ที่จะได้ความรู้เรื่องประโยชน์ ที่ได้จากการได้เห็นปลาเรืองแสง คิดว่าแทบจะไม่มีอะไรเลย นอกจากต้องการจะส่งเสริมจีเอ็มโอในแง่ของธุรกิจปลาสวยงาม ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นมากมายขนาดนั้น เพราะหากไบโอเทคต้องการจะนำเสนอ ความแปลกใหม่ในแง่ปลาเรืองแสง ปลาสะท้อนแสงแล้ว ประเทศไทยมีปลาพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัติ ดังกล่าวหลายชนิด เช่น ปลาหัวตะกั่ว ซึ่งหาได้ตามป่าพรุในภาคใต้ และจังหวัดจันทบุรี หรือแม้แต่ปลากัดไบโอเทคสามารถ หยิบเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้สัตว์พวกนี้มีคุณสมบัติแบบนี้ แทนที่จะเอาปลา จีเอ็มโอซึ่งสร้างปัญหาและคำถามต่างๆ มากมายเข้ามา
ปลาม้าลายเรืองแสงนี้นักวิทยาศาสตร์เอายีนเรืองแสงจากแมงกะพรุน ตัดต่อใส่ลงไปในยีนของ ปลาม้าลาย ได้ออกมาเป็นปลาม้าลายเรืองแสง เมื่อ ๒ ปี ก่อน ซึ่งไบโอเทคเคยสั่งเข้ามาแสดงในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แต่ถูกกักที่ด่านศุลกากรดอนเมือง เนื่องจากใบอนุญาตนำเข้ายังไม่ครบ และไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ
(ที่มา:http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif01281048&day=2005/10/28)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ