กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (Mr. Amonthep Chawla, Ph.D., Vice President, Economic and Financial Market Research, Research Office, CIMB Thai Bank PCL) เปิดเผยว่า แม้ปัญหาหนี้สหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายลง หลังวุฒิสภาและสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เห็นชอบให้มีการผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาบริหารประเทศได้ แต่การผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจเป็นข่าวดีเพียงชั่วคราว เนื่องจากสภาได้อนุมัติงบประมาณให้ใช้ได้ถึงเพียงวันที่ 15 มกราคม และเพิ่มเพดานหนี้ได้ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปีหน้าเท่านั้น
“โอกาสที่สหรัฐฯ จะเผชิญปัญหาเพดานหนี้ หรือการปิดหน่วยงานราชการอีกครั้งมีสูงมาก เพราะสหรัฐฯ จะมีความยากลำบากในการปรับลดงบประมาณ เนื่องจากงบส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่รัฐให้การช่วยเหลือประชาชนตามสิทธิที่จะได้รับ เช่น การใช้จ่ายด้านสุขภาพ และประกันสังคม ขณะที่งบประมาณด้านทหาร และการบริหารประเทศอื่นๆ ถูกปรับลดมามากแล้ว” นายอมรเทพ กล่าว
ในระยะเวลาสั้น ความไม่แน่นอนในการแก้ปัญหาเพดานหนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจเลื่อนการตัดลดมูลค่าการซื้อพันธบัตร หรือ QE ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อนโยบายการคลังยังคงมีความไม่แน่นอน นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว โดยสำนักวิจัยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงมาตรการ QE ไว้จนปัญหาการคลังเริ่มคลี่คลายในต้นปีหน้า ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงต่อไป
สำหรับผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยนั้น เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ คงมาตรการ QE ไทยจะได้รับผลกระทบจากเงินลงทุนที่จะไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดทุนอันจะส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาเพดานหนี้ได้รับการแก้ไข ผู้ลงทุนจะให้น้ำหนักต่อการถอนมาตรการQE ที่จะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าได้ตามเงินลงทุนที่จะไหลออกตลาดเอเชียอีกครั้งในต้นปีหน้า
นายอมรเทพ กล่าวเสริมว่า ขณะที่แนวโน้มในระยะยาว สหรัฐฯ อาจมีปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้และการเจรจาด้านการปรับลดการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น อันจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีความล่าช้าในการชำระดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล และนำไปสู่ความกังวลที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อาจลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
อนึ่ง ธนาคารกลางของหลายประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยจีนมีสัดส่วนการถือพันธบัตรมากที่สุดถึงราว 23% หรือคิดเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนทั้งหมดราว 40% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรราว 0.8% และในจำนวนนี้นับเป็นสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยทั้งหมดราว 25% ซึ่งเห็นว่าไทยมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ก็น้อยกว่าจีน อีกทั้งธปท. ได้ลดสัดส่วนการถือพันธบัตรสหรัฐฯ มาต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง
หากปัญหาการคลังสหรัฐฯ มีความยืดเยื้อ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจปรับลดสัดส่วนการถือพันธบัตรสหรัฐฯ มากขึ้น และอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มสูง อันสะท้อนว่าสหรัฐฯ จะต้องกู้เงินด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น และจะกระทบต่อรายจ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะมีเงินน้อยลงในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ผลทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งคือด้านการส่งออก โดยการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ จะมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ซึ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วนราว 20% ของ GDP มีการปรับลดลง ก็จะมีผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในสหรัฐฯ ชะลอลงได้ จากความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ลดลง อันมีผลต่อการนำเข้าสินค้าบริโภคจากไทย” นายอมรเทพ กล่าวทิ้งท้าย