กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ศศินทร์
ศศินทร์คาดอนาคตไทยเป็นฮับของธุรกิจแฟชั่นและบันเทิงในอาเซียน เผยผู้บริโภคยอมรับด้านความคิดสร้างสรรค์รวมทั้งชื่นชอบดาราและดูละครไทย แนะผู้ประกอบการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการลงทุนในเมียนมาร์ตลาดยังสดใสและเปิดกว้างรับนักลงทุนจากไทย
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวรอบด้านเพื่อค้นหากลยุทธ์ที่สามารถแข่งขันกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวข้องกับความบันเทิงคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านดูละครไทยและให้ความสนใจสินค้าประเภทบันเทิงและแฟชั่นจากไทย ดังนั้น เพื่อให้การเปิดตลาดใหม่ในอาเซียนได้ผลมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าดังกล่าว เช่น จะส่งออกสินค้าประเภทบันเทิงไปเวียดนามผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของพระเอกและนางเอกที่จะต้องออกมาดูดีมากที่สุด เพราะถ้ามีบทส่อไปทางลบประชาชนจะรับไม่ได้ นอกจากนี้แล้วต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่หลากหลาย เนื่องจากมีช่องทางใหม่ ๆ ให้เลือกมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คุณภาพสูงสุด
“แม้ว่าชาติต่าง ๆ ในอาเซียนยอมรับเรื่องความคิดสร้างสรรค์จากไทย แต่ไม่ควรประมาทเพราะธุรกิจนี้จะต้องแข่งขันกับธุรกิจจากทั่วโลก โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน ซึ่งตลาดบันเทิงยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง แต่การบุกตลาดต้องนำเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อให้คนในท้องถิ่นประทับใจ เพราะเมืองใหญ่ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีกำลังซื้อสูง” ดร.กฤษติกากล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาไลฟ์สไตล์ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทันสมัยมากนัก เชื่อว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากวัฒนธรรมต่างชาติกำลังหลั่งไหลเข้าสู่เมียนมาร์และเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปเจาะตลาดเมียนมาร์จะต้องรีบตัดสินใจก่อนที่ชาติอื่น ๆ จะครองตลาด นอกจากนี้ ทั้งเวียดนามและมาเลเซียยังยอมรับธุรกิจบันเทิงจากประเทศไทย จึงเป็นไปได้ว่าไทยอาจเป็นฮับของตลาดด้านบันเทิงในอาเซียน
สำหรับการแข่งขันธุรกิจบันเทิงรวมทั้งอีเว้นท์ต่างๆ ในเมียนมาร์ปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก อาจเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ หากตัดสินใจช้ากว่านี้ตลาดจะมีส่วนแบ่งน้อยลง หากเข้าไปลงทุนในช่วงนี้จะแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การบุกตลาดเมียนมาร์จำเป็นต้องหาพันธมิตรและร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีที่จะร่วมทุนกับต่างชาติ เพราะรัฐบาลเมียนมาร์สนับสนุนการลงทุนเต็มที่ หากไม่มีความสัมพันธ์หรือรู้จักใครนักลงทุนสามารถประสานงานผ่านสถานฑูต ปัจจุบันมีทูตด้านพาณิชย์ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการไทยและชาติต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปลงทุน พร้อมช่วยติดต่อหอการค้าหรือองค์กรธุรกิจในท้องถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ธุรกิจขนาดย่อมของไทยจะขยายตลาดสู่เมียนมาร์
ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นถึงธุรกิจด้านแฟชั่นและเครื่องแต่งกายของไทยว่า เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจแฟชั่นจะนำวัฒนธรรมไทยเผยแพร่สู่อาเซียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประชาชนในภูมิภาคนี้ให้การยอมรับฝีมือคนไทย แม้ในอดีตการแต่งกายของคนในชาติต่าง ๆ จะแตกต่างกันตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้แต่งกายคล้ายกันมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลด้านแฟชั่นและความบันเทิง รวมทั้งความพยายามในการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เห็นได้จากปัจจุบันเยาวชนในอาเซียนทั้งพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เดินทางมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ ของประเทศไทย ในขณะที่คนไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านน้อย อาจทำให้เกิดความเสียเปรียบเรื่องการสื่อสารภาษาท้องถิ่น หรือแม้แต่เรื่องความไม่เข้าใจวัฒนธรรม ทั้งที่ในอนาคตประชาชนจากอาเซียนจะเป็นลูกค้าของเรา