หอการค้าจับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารโลก ชี้อนาคตผู้บริโภคเน้นใส่ใจสังคมสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Friday October 18, 2013 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--หอการค้าไทย หอการค้าจับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารโลก ชี้อนาคตผู้บริโภคเน้นใส่ใจสังคมสิ่งแวดล้อมเตรียมพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยยกระดับผลักดันไทยเป็นแหล่งอาหารโลกเน้นปรับตัวและเพิ่มวิจัยพัฒนาสินค้าอาหารรูปแบบใหม่ๆ หอการค้าไทยเผยผลสำเร็จผู้ประกอบการอาหารไทยร่วมงาน ANUGA งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดเพิ่มยอดส่งออกไปทั่วโลก ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารโลก ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือสังคม และให้ความสำคัญความปลอดภัยของอาหาร เตรียมพร้อมผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับมือตลาดอาหารขยายตัวจากประชากรโลกเติบโตสูง วางกลยุทธ์ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มวิจัยพัฒนาสินค้าอาหารรูปแบบใหม่ๆ ผลักดันไทยเป็นแหล่งอาหารโลก นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 4 — 6 ตุลาคม 2556 หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดคณะผู้แทนเดินทาง ไปชมงานแสดงสินค้า ANUGA 2013 ณ เมืองโคโลญจน์ ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมัน จัดโดย Koelnmesse GmbH ซึ่งงานแสดงสินค้า ANUGA นับเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะจัดขึ้นทุก 2 ปี สำหรับในปีนี้ได้จัดแสดงสินค้าบนพื้นที่ทั้งหมด 284,000 ตารางเมตร มีผู้ร่วมแสดงสินค้าและบริการ จำนวน 6,700 ราย จาก 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 160,000 คน ในส่วนของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารสำคัญของโลกประเทศหนึ่ง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำผู้ประกอบการอาหารของไทยเดินทางไปร่วมแสดงสินค้า จำนวน 139 ราย บนพื้นที่ประมาณ 1,531 ตารางเมตร ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง สินค้าอาหารของไทยได้รับความสนใจจากผู้ชมงานอย่างมาก และคาดว่าการเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าของผู้ประกอบการของไทยในครั้งนี้ จะช่วยให้สินค้าอาหารของเราเป็นที่รู้จัก และสามารถเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าอาหารของเราไปทั่วโลกได้มากพอสมควร นอกจากนี้ ข้อมูลตัวเลขจากสหประชาชาติระบุว่า ในอีก 37 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 9,700 ล้านคนในปีพ.ศ. 2593 โดยความต้องการปริมาณอาหารโลกจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 70% ในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากการเดินทางไปเข้าร่วมสัมมนา และชมงานในครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า แนวโน้มของอาหารในอนาคตนั้น ผู้บริโภคจะเลือกซื้ออาหารที่ผลิตจากบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) โดยต้องสามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้ส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายและมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการในการบริโภค หลายประเทศเริ่มสูญเสียความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) นอกจากนั้น อาหารยังถูกแย่งไปทำพลังงานทำให้ผลผลิตมีน้อยลง และราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้น เพราะฉะนั้น การทำวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารและผลิตให้ได้ประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักและให้ความสำคัญ ในอนาคตการซื้อสินค้าอาหารสำเร็จรูปจะมีมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งสินค้าอาหารไปยุโรปควรมีการศึกษาตลาดให้ชัดเจน เพราะในอนาคตผู้สูงอายุในยุโรปจะมีมากขึ้น ดังนั้น ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะมีความต้องการสูงขึ้นมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดอาหารในยุโรป โดยเฉพาะใน Switzerland เชื่อว่าจะมีการกีดกันมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อปกป้องตลาดของเขาเอง เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้า เพราะตลาด Switzerland เป็นตลาดที่ต้องการคุณภาพมากกว่า แต่จะดูเรื่องราคาเป็นเรื่องรอง และเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับความมั่นคงทางด้านอาหารของยุโรปก็คือ การเพิ่มพื้นที่การผลิตออกนอกยุโรปจะมีมากขึ้น โดยการร่วมทุนกับบริษัทที่ไว้ใจได้ในประเทศนั้นนั้น “ผู้ประกอบการคงต้องให้ความสำคัญว่า ในอนาคตประชากรของโลกจะเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งการผลิตอาหารของโลกคงจะขยายตัวไม่เร็วเท่ากับการขยายตัวของคน เพราะพื้นที่การเพาะปลูกมีจำนวนจำกัด ทำให้อนาคตอาหารเป็นของที่มีจำกัด จึงควรจะหาวิธีการที่จะผลิตอาหารให้มีปริมาณ คุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่านี้” ในอนาคตการพัฒนาสินค้าอาหารรูปแบบใหม่ ๆ คงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะตลาดของอาหารคงจะใหญ่ขึ้น ต้องดูทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การผลิตและจัดส่งจนถึงผู้บริโภค คงต้องยอมรับว่าในอนาคตลูกค้าสินค้าอาหารในตลาดโลก โดยเฉพาะทางด้านยุโรป ต้องการที่จะสนับสนุนบริษัทหรือผู้ประกอบการที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งต่อสิ่งแวดล้อม มีโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าต้องการทราบข้อมูลว่า สินค้าเหล่านั้น ผลิตอย่างไร จากไหน โดยใคร ถูกต้องไหม สามารถตรวจสอบที่มาได้ เช่น ต้องการจับปลาแบบไหน วิธีถูกต้องไหม เรือประมงที่ใช้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการคงจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับในส่วนของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็ได้พยายามยกระดับสินค้าอาหารของประเทศในหลายรูปแบบมาโดยตลอด และได้มีการประสานความร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้วเช่น 1. การยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้จัดทำมาตรฐานสินค้า ThaiGAP เพื่อรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับผู้ประกอบการของไทย ในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และในขณะนี้ยังได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้าอาหารประเภทอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น สินค้าประมง เป็นต้น 2. การติดตามสถานการณ์และแนวโน้มด้านต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมของอาหารเพื่อแจ้งให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบ รวมทั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการเกษตรและอาหารขึ้นมาติดตามแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย 3. การประชุมกำหนดกลยุทธ์และวางแผนการพัฒนาอุตสากรรมอาหารของประเทศร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนั้น เรายังได้จักกิจกรรมสำคัญประจำปีที่สำคัญอีกงานหนึ่งร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ Koelnmesse GmbH ก็คือ การจัดงานแสดงสินค้า THAIFEX — World of food ASIA เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอาหารของเราเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2014 นี้ ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 — 25 พฤษภาคม 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี บนพื้นที่จัดงาน 60,000 ตารางเมตร ซึ่งเราคาดว่าจะมีผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มจากทุกมุมโลก มาเข้าร่วมแสดงสินค้า ประมาณ 1,300 บริษัท จำนวน 3,500 คูหา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ