กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผย สถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนปี 2556 มูลค่าเงินลงทุน 737.8,000 ล้านบาทกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ สาธารณูปโภค ยานยนต์และชิ้นส่วนสนใจลงทุนมากที่สุด ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ แม้จะลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ยังมีนักลงทุนจีนและมาเลเซียลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และในเดือนธันวาคมนี้ บีโอไอจะจัดประชุมแผนชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2557
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2556) มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,431 โครงการ เงินลงทุน 737,800 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับลดลงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปี 2555 ที่มีจำนวน 1,528 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีมูลค่าเงินลงทุน 732,000 ล้านบาท
ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 382 โครงการ เงินลงทุน 329,100 ล้านบาท รองมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 320 โครงการ เงินลงทุน 200,500 ล้านบาท อันดับสาม กลุ่มเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร 276 โครงการ เงินลงทุน 93,600 ล้านบาท อันดับสี่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 227 โครงการ เงินลงทุน 46,000 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มเคมี กระดาษ และพลาสติก 133 โครงการ เงินลงทุน 34,100 ล้านบาท กลุ่มเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 35 โครงการ เงินลงทุน 21,800 ล้านบาท และอันดับสุดท้าย กลุ่มอุตสาหกรรมเบา 58 โครงการ เงินลงทุน 12,700 ล้านบาท
“ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ 1.4 ล้านล้านบาท จึงส่งผลให้สถิติขอรับส่งเสริมในปีนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม ยอดขอรับส่งเสริมตลอด 3 ไตรมาสซึ่งสูงกว่า 7 แสนล้านบาท ถือว่าสูงกว่ายอดขอรับส่งเสริมในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปกติจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเพียง 600,000-700,000 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้าย ยังมั่นใจว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านล้านบาทได้อย่างแน่นอน” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับสถิติการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ในช่วง 9 เดือนพบว่า มียื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 853 โครงการ เงินลงทุนรวม 350,672 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงเท่ากันที่ร้อยละ 19 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 1,054 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 433,064 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยังคงเป็นกลุ่มทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 448 โครงการ เงินลงทุน 211,350 ล้านบาท โครงการและมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงเท่ากันที่ร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 586 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 276,087 ล้านบาท
รองลงมาเป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 44 โครงการ เงินลงทุน 8,193 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันที่มี 36 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนปรับลดลงร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 16,024 ล้านบาท การลงทุนจาก เนเธอร์แลนด์ มีจำนวน 18 โครงการ เงินลงทุน 10,926 ล้านบาท โครงการปรับลดลงร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันที่มี 26 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนลดลงร้อยละ 48 จากช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 21,102 ล้านบาท
แม้ว่าการลงทุนจากบางประเทศจะชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ก็มีโครงการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย มีจำนวน 24 โครงการ เงินลงทุน 18,316 ล้านบาท จำนวนโครงการใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มี 26 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันที่มี 13,802 ล้านบาท การลงทุนจากจีน มีจำนวน 31 โครงการ เงินลงทุน 37,705 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุนจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 30 โครงการ เงินลงทุน 10,268 ล้านบาท โดยเงินลงทุนปรับขึ้นถึงร้อยละ 267 หรือ กว่า 2 เท่าตัว
“ ในช่วง 3 ไตรมาสนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทจำนวนมาก และหลายโครงการได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ของฮอนด้า ออโตโมบิล เงินลงทุนกว่า 33,248 ล้านบาท โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และชิ้นส่วนยานยนต์ ของสยามโตโยต้า เงินลงทุนกว่า 17,900 ล้านบาท รวมทั้งโครงการขนส่งทางอากาศ ของสายการบินหลายแห่ง เช่น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ เงินลงทุนรวมกว่า 140,000 ล้านบาท และยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่เพิ่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาอีกหลายราย อาทิ การผลิตยางรถยนต์และยางรถบรรทุก เครื่องยนต์ดีเซล ชิ้นส่วนยานยนต์ และโลจิสติกส์ พาร์ค เป็นต้น” นายอุดม กล่าว
นายอุดมกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2556 นี้ บีโอไอจะจัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศทั้ง 14 แห่งขึ้น เพื่อวางแผนชักจูงการลงทุนปี 2557 ให้สอดคล้องกับการชักจูงการลงทุนท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ยังมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่มีศักยภาพและความพร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง