กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เดินหน้าโครงการรณรงค์ระดับโลก Because I am a Girl หรือ เพราะฉันคือเด็กผู้หญิงพร้อมเผยผลงานวิจัยเรื่อง“ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กหญิง”
องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย สานต่อโครงการ เพราะฉันคือเด็กผู้หญิง (Because I am a Girl หรือ BIAAG) ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ระดับนานาชาติที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี โดยมุ่งสนับสนุนให้เด็กหญิงนับล้านคนทั่วโลกได้รับการศึกษาและมีทักษะการใช้ชีวิต ตลอดจนได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชีวิตของตนและสังคมแวดล้อมให้ดีขึ้น พร้อมเปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเรื่อง “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กหญิง”ที่สำรวจในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม
นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยว่า ความแปรปรวนของอุณหภูมิและสภาพอากาศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภัยแล้ง อุทกภัยและวาตภัยได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยในประเทศไทยมีรายงานว่าอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1-2 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 2573ดังนั้นโครงการรณรงค์ Because I am a Girl ในปีนี้ องค์การแพลนฯ (สำนักงานประเทศไทย) จึงได้เน้นศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กหญิง และมุมมองของเด็กต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ว่ามีมาตรการใดบ้างที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ควรดำเนินการเพื่อช่วยให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กหญิงให้สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และมีมาตรการใดบ้างที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวให้กับชุมชน
ทั้งนี้ งานวิจัยในหัวข้อ “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กหญิง”ได้นำแนวทางการวิจัยแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับเด็กมาใช้เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ร่วมกัน ตลอดจนเรียนรู้วิธีการปรึกษาหารือกับเพื่อน ครอบครัว และสมาชิกในชุมชนด้วย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและผู้ใหญ่จำนวน 99 คน (ผู้ใหญ่ 51 คนและเด็ก 48 คน) จากอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม
1. ในเรื่องสิทธิในชีวิตและการอยู่รอด พบว่าภัยธรรมชาติส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของเด็กในพื้นที่ห่างไกลคือ เด็กมีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพในระหว่างเกิดภัยธรรมชาติที่เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติและลดความเสี่ยงมักมีแนวโน้มเปิดโอกาสให้ผู้ชายและเด็กชายมีส่วนร่วมมากกว่าผู้หญิงและเด็กหญิง ทั้งๆ ที่ผู้หญิงและเด็กหญิงมักมีหน้าที่จัดการงานในบ้านและดูแลเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น การให้ข้อมูลและฝึกปฏิบัติสำหรับกลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิงในเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับครัวเรือนก็จะช่วยเพิ่มการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยธรรมชาติที่เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้นด้วย
2. ในเรื่องสิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง ผลการศึกษาพบว่า เด็กมักไม่ทราบว่าตนเองควรได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเหตุภัยพิบัติมักมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมก็มักเพิ่มขึ้นด้วย ผู้ใหญ่ต้องดูแลให้เด็กปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงทุกกรณี โดยครูและผู้นำชุมชนควรมีความรู้เฉพาะทางเรื่องกระบวนการปกป้องคุ้มครองเด็กระหว่างเหตุการณ์ฉุกเฉิน และต้องสนับสนุนให้เด็กพูดถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่อตัวเด็กและความรู้สึกของตนหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ
3. ในเรื่องสิทธิในการพัฒนา พบว่าเด็กมิได้เรียนรู้หรือได้รับความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และวิธีการที่เหมาะสมในการเตรียมตัวรับมือและปรับตัวกับภัยธรรมชาติเลย แต่เด็กสนใจจะเรียนรู้ว่าจะป้องกันตนเองได้อย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติ และต้องการเข้าใจว่าจะรับมือกับปรากฎการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ได้อย่างไร ดังนั้นโรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมในประเด็นที่หลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนในวงกว้าง เช่น การเตรียมถุงยังชีพ การซ้อมอพยพ การฝึกทักษะการยังชีพ โดยกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเด็กในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และทำให้เกิดความสนุกและให้ความรู้ไปพร้อม ๆ กัน
4. ในเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วม เด็กส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมกับชุมชนน้อยมาก โดยปรกติแล้ว การมีส่วนร่วมของเด็กมักอยู่ในลักษณะการทำงานตามที่ผู้ใหญ่กำหนด สั่ง และควบคุมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ครูและผู้ใหญ่ในชุมชนอาจช่วยสนับสนุนเด็กโดยเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามาเป็นสมาชิกของคณะทำงานหรือคณะกรรมการด้านการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ตลอดจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ได้
“ผลวิจัยสะท้อนว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเด็กและเด็กหญิงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเตรียมตัวรับมือและป้องกันคนกลุ่มนี้จากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ซึ่งการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ใหญ่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของเด็กและให้โอกาสเด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ นอกจากนี้ยังมีหลายวิธีที่เด็กหญิงจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ด้วยการช่วยระบุความเสี่ยง ตลอดจนหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการรับมือ ความเคารพตนเอง และความมั่นใจของเด็กและทำให้พวกเธอกลายเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในชุมชนในการช่วยชีวิตและช่วยให้สมาชิกในชุมชนสามารถปรับตัวกับภัยพิบัติและปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั่นเอง” นางมหา กล่าวสรุป