BBC9: ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ ชี้แจงงบการเงิน ณ สิ้นปี 2540 ที่นำเสนอต่อ ธปท.

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 1998 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--17 ก.พ.--ธ.กรุงเทพฯ พาณิชย์การ
นายสำรอง วาณิชยานนท์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า งบการเงินเบื้องต้น ณ สิ้นปี 2540 ที่ธนาคารนำเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามแบบ ธ.พ.1.1 ธนาคารมีผลขาดทุนประมาณ 17,000 ล้านบาท ประกอบด้วยผลขาดทุนจากการดำเนินงานเพียง 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 13,000 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนที่มีสาเหตุเนื่องมาจากธนาคารมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งลูกหนี้สินเชื่อและเงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมาก โดยสินทรัพย์ดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารของกลุ่มผู้บริหารเดิม ซึ่งพบภายหลังการตรวจสอบฐานะและการดำเนินงาน (Due Diligence) และธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาขายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพิ่มเติมตามสัญญาความร่วมมือในการเข้าบริหารและฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ทำให้สำรองค่าเผื่อสินทรัพย์เสียหายที่ธนาคารมีอยู่ ณ ธันวาคม 2540 มีจำนวนไม่เพียงพอตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารจึงจำเป็นต้องกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับผลขาดทุนอีก 3,000 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนจากหลักทรัพย์ โดยประมาณ 1,500 ล้านบาท เป็นสำรองสำหรับขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตามที่กล่าวข้างต้น และอีก 1,500 ล้านบาท เป็นขาดทุนจากการขายและตีราคาหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาด
นายสำรอง วาณิชยานนท์ ชี้แจงต่อไปอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ธนาคารมีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนที่มีอยู่ ธนาคารจึงได้เสนอให้มีการลดทุนและเพิ่มทุนในจำนวนที่มากเพียงพอต่อการดำรงฐานะและสภาพคล่อง ตลอดจนเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งให้ธนาคารลดทุนร้อยละ 95 โดยการลดมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 10 บาทเหลือหุ้นละ 0.50 บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยธนาคารในรูปบัญชี คือ สามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่จำนวนมาก อันจะทำให้งบการเงินแสดงฐานะที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารสามารถระดมเงินฝากได้คล่องขึ้น สามารถพยุงฐานะและฟื้นกิจการตามแผนฟื้นฟูของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานดีขึ้นตามลำดับ และง่ายต่อการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมฟื้นฟูกิจการ
นายสำรอง วาณิชยานนท์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับการบริหารงานธนาคารยังคงเป็นการว่าจ้างบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบริหารด้วยระยะเวลา 7 ปี ตามเงื่อนไขในสัญญาเดิม--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ