โพลล์สำรวจพฤติกรรมวัยรุ่นใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาและสาระวิชาการน้อย

ข่าวทั่วไป Monday October 21, 2013 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้แท็บแล็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นยุคนี้มากที่สุดว่า จากการที่สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์เคยสำรวจพฤติกรรมวัยรุ่นกับการใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายนนั้นพบว่ากลุ่มสำรวจที่เป็นเยาวชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลใช้แท็บเล็ตเพื่อสาระบันเทิงมากกว่าสาระความรู้ ล่าสุดสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์สำรวจพฤติกรรมวัยรุ่นในกรุงเทพฯและปริมณฑลใช้แท็บเล็ตเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา จำนวน 1,066 คน การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพและเทียบเท่า เพศชาย 516 คน เพศหญิง 550 คน ในระหว่างวันที่ 13-18 ตุลาคม 2556 สรุปได้ ดังนี้ ด้านพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษานั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.89 ระบุว่าตนเองใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.77 ระบุว่าใช้เฉพาะเมื่อครูอาจารย์สั่งงาน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาประมาณ 30 ถึง 60 นาทีโดยเฉลี่ยต่อครั้งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35.78 ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ทางการศึกษาซึ่งกลุ่มตัวอย่างนิยมใช้ผ่านคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียน คิดเป็นร้อยละ 84.76 ค้นหาข้อมูลความรู้ทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 81.41 และเล่นเกมที่เกี่ยวกับการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 78.81 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษากับการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นเกม พูดคุย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 45.73 ยอมรับว่าตนเองใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์อื่นมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 30.49 ระบุว่าใช้พอ ๆ กัน และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.78 ที่ระบุว่าตนเองใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษามากกว่า สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับ ที่กลุ่มตัวอย่างใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาคือ ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว คิดเป็นร้อยละ 80.11 ใช้งานได้ทุกเวลา คิดเป็นร้อยละ 77.73 ใช้งานง่าย คิดเป็นร้อยละ 76.11 พกพาได้สะดวก/นำไปได้ในทุกสถานที่ คิดเป็นร้อยละ 74.81 และจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก คิดเป็นร้อยละ 72.11 ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาได้แก่ ใช้งานได้ยาก คิดเป็นร้อยละ 81.56 ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตไม่คล่อง คิดเป็นร้อยละ 79.43 ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ยาก คิดเป็นร้อยละ 76.6 กลัวข้อมูลต่าง ๆ ศูนย์หาย คิดเป็นร้อยละ 71.63 และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ คิดเป็นร้อยละ 68.09 ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.57 เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียน ขณะที่ร้อยละ 21.20 ไม่เห็นด้วย ส่วนความคิดเห็นต่อผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนกับผลการเรียน ความกระตือรือร้น/ตั้งใจเรียน พฤติกรรมการอ่านหนังสือเรียน การให้ความสนใจทำกิจกรรมในชั้นเรียน และการค้นคว้าหาข้อมูลนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36.21 มีความคิดเห็นว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนส่งผลในระดับปานกลางที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษามีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้ ขณะที่ร้อยละ 23.45 มีความคิดเห็นว่าส่งผลได้มาก ส่วนความกระตือรือร้น/ตั้งใจเรียน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนส่งผลในระดับปานกลางที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษามีความกระตือรือร้น/ตั้งใจเรียนมากขึ้นได้โดยคิดเป็นร้อยละ 35.37 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.14 ระบุว่าส่งผลได้มาก สำหรับการอ่านหนังสือเรียน กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.05 มีความคิดเห็นว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนส่งผลในระดับปานกลางที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษาอ่านหนังสือเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.89 ระบุว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนไม่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาอ่านหนังสือเรียนน้อยลง สำหรับการให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.15 มีความคิดเห็นว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนส่งผลในระดับปานกลางที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมในชั้นเรียน เช่น ทำแบบฝึกหัด จดบันทึก ทำงานกลุ่มน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ24.48 ระบุว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตประกอบการเรียนไม่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจกับการทำกิจกรรมในชั้นเรียนน้อยลงเลย และสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อประกอบการเรียนส่งผลในระดับปานกลางที่จะทำให้นักเรียนนักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ผ่านแหล่งข้อมูลที่เป็นหนังสือน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.33 ระบุว่าส่งผลได้มาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ