กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต
อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมด้วยคณะลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี มอบเวชภัณฑ์และ ถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และ“ทีมเยียวยาจิตใจ”หรือทีม “MCATT” ให้บริการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและช่วยเหลือเยียวยาจิตใจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยมีแผนส่งทีมประจำอำเภอละ 1 ทีม ได้แก่ ทีมจากโรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้ว และเตรียมสนับสนุนทีมสุขภาพจิตจากส่วนกลางลงให้การช่วยเหลือสับเปลี่ยนกำลังกับทีมในพื้นที่ เพื่อผ่อนคลายความอ่อนล้าแก่ผู้ปฏิบัติงานให้มีขัวญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุขอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักถึง 2 ครั้ง มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างครอบคลุมทั้ง 7 อำเภอ รวมทั้งสิ้น26,904 ครัวเรือน เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 เฉพาะที่จังหวัดปราจีนบุรีครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่ามาก นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่ ทรัพย์สิน บ้านเรือน แหล่งทำกิน พืชสวนไร่นา ของประชาชนเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงถึง 15 คน และจากการประเมินภาวะสุขภาพจิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ จำนวน 1,112 ราย พบว่ามีความเครียดสูงถึง 39 ราย มีภาวะซึมเศร้า 3 ราย และ 1 รายที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากการสูญเสียที่ทำกินจนถึงขั้นหมดตัว
“เหตุการณ์น้ำท่วมถือเป็นสภาวะวิกฤตอย่างหนึ่งที่กระทบต่อจิตใจ ความรู้สึกของประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถปรับสภาพจิตใจให้รับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หวาดผวา ซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง และบางรายอาจถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือคิดสั้นฆ่าตัวตาย”
นายแพทย์เจษฎากล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการจัดระบบบริการสุขภาพจิตในภาวะวิกฤต เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ด้วยการจัด“ทีมเยียวยาจิตใจ”หรือทีม “MCATT” โดยร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี เครือข่ายในพื้นที่ทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีการให้บริการทั้งในรูปแบบของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และในรูปแบบของการเยี่ยมบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาทีม MCATT ได้มีการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ ทักษะในการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชน สามารถให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจเบื้องต้น ให้การปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพื่อลดภาวะความเครียด การฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง รวมทั้งการให้กำลังใจ สร้างแรงใจให้ผู้ประสบภัยสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานของทีม MCATT ไม่ว่าจะเป็นออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และการเยี่ยมบ้าน เพื่อการค้นหาผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตนั้น จะมีการประเมินความเครียดด้วยแบบ ST5 และประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยแบบ DS8 หากผลทดสอบด้วยแบบ ST5 มีคะแนนเกิน 6 คะแนนขึ้นไป และผลทดสอบด้วยแบบ DS8 ได้คะแนนมากกว่า 8 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าผู้ประสบภัยที่ได้รับการประเมินมีปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียดสูงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งผู้ประสบภัยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจและการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหายบางราย ที่มีภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียอย่างกะทันหัน ทีมจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตาย และดำเนินการเยี่ยมเยียนเยียวยาจิตใจ สำหรับบางรายหากพบว่ามีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมาก ๆ จนถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ แพทย์จะพิจารณาให้ยาคลายความเศร้าหรือยาคลายความเครียดเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ส่วนในรายที่มีอาการทางจิตรุนแรงหรือยุ่งยากซับซ้อน จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้กับผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ารับการรักษาและช่วยทำให้อาการดีขึ้นต่อไป
“หากท่านเป็นผู้ประสบภัยหรือคนในครอบครัวมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น สามารถขอคำปรึกษาจากทีม MCATT หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และหมายเลขอัตโนมัติ 1667 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดทุกชนิดในการจัดการความเครียดหรือความทุกข์อย่างเด็ดขาด”นายแพทย์เจษฎากล่าวปิดท้าย
ติดต่อ:
www.dmh.go.th