กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ปตท.
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ 14 - 18ต.ค. 2556และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ 21- 25 ต.ค. 2556
หมายเหตุ วันที่ 15 ต.ค. 2556 ตลาดน้ำมันประเทศสิงคโปร์หยุดทำการเนื่องจากเป็นวันทางศาสนา Hari Raya Haji
ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบเฉลี่ยช่วงสัปดาห์ที่ 14 - 18 ตุลาคม 2556 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ลดลง 0.27เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 101.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 107.33เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีดังต่อไปนี้ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) ในปี 2556 จากเดิมที่ระดับ 5% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 4.5% ต่อปี
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของประเทศสหรัฐฯ International Energy Administration คาดการณ์สหรัฐฯ จะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับที่ 2 ของโลก แซงหน้ารัสเซีย และเป็นรองแค่ซาอุดีอาระเบียเท่านั้น โดยภายในปี 2557 สหรัฐฯ จะสามารถผลิตน้ำมันได้ ที่ระดับ 11.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันรัสเซียผลิตน้ำมันดิบได้ที่ 10.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Reuters รายงานแผนการผลิตน้ำมันจากแหล่งทะเลเหนือ (North Sea) ในเดือน พ.ย. 56 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 17% มาอยู่ที่ระดับ 2.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดในปี 2556
บริษัทน้ำมันแห่งชาติเม็กซิโกPemex Pemexมีแผนเพิ่มปริมาณผลิตน้ำมันดิบมาอยู่ที่ระดับ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในช่วงปลายปี 2556 เดือน ก.ค. 2556 ผลิตอยู่ที่ระดับ2.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อิหร่านแสดงความพร้อมที่จะลดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในที่ประชุมเรื่องการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกับกลุ่มประเทศ P5 + 1 เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2556 โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7-8 พ.ย. นี้ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 3/2556 อยู่ที่ระดับ 7.8% นับเป็นอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2/2555
กรมศุลกากรของจีนรายงานการนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ (Net Crude oil Import) ในเดือน ก.ย. 2556 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน25% อยู่ที่ระดับ 6.26 ล้านบาร์เรลต่อวันสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
China Association of Automobile Manufactures รายงานยอดขายรถยนต์ขนาดเล็ก ในเดือน ก.ย. 2556 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 21% อยู่ที่ระดับ 1.59 ล้านคัน สูงกว่าที่ผลสำรวจของนักวิเคราะห์โดยBloomberg คาดการณ์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถกลับมาขายรถยนต์ได้ตามปกติ หลังเกิดเหตุข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์เกาะ Senkakuหรือ Diaoyuระหว่างญี่ปุ่นและจีน
Reuters รายงานจีนวางแผนซื้อน้ำมันดิบจากอิรักในปี 2014 เพิ่มขึ้นกว่าจากเดิม66% อยู่ที่ระดับ 0.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน
พนักงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล Petrobrasประท้วงและลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบ Compos เป็นเวลา 36 ชั่วโมง ทั้งนี้แหล่งน้ำมันดิบดังกล่าวมีสัดส่วนกำลังการผลิตคิดเป็น 80% ของประเทศ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นทั้งตัวเลข GDP จีนไตรมาส 3/2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.8% ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ส่งผลให้ค่า GDP เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ระดับ 7.7% สูงกว่าตัวเลขที่ทางการจีนคาดสำหรับปีนี้ที่ 7.5% อีกทั้งนักลงทุนมีความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯภายหลังหน่วยงานรัฐบาลกลับมาเปิดทำการตามปกติและสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงผ่านการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้น S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,733.15 จุด นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก (Dollar Index ลดลงอยู่ที่ระดับ 79.48 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556) อาทิยูโรอ่อนค่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน ส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าน้ำมันซื้อน้ำมันดิบที่ราคาอิงด้วยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้ในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินตนเอง กอปรกับพนักงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติบราซิลประท้วงรัฐบาลในการขายสิทธิ์แหล่งน้ำมันดิบ Libra (ปริมาณน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้ว 8,000 — 12,000 ล้านบาร์เรล) ซึ่งนับเป็นการประมูลขายแหล่งน้ำมันดิบนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบราซิลให้แก่บริษัทต่างชาติ โดยที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติบราซิลถือหุ้นสัดส่วน 30% ทั้งนี้พนักงานบริษัท Petrobrasและสหภาพแรงงานของบริษัทแสดงท่าทีไม่พอใจและเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนของบริษัท Petrobrasขึ้นอีก 11.6% ทั้งนี้บริษัท Petrobrasเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบเพียงรายเดียวของบราซิลในช่วงระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปี 2540 ได้เริ่มมีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปัจจัยอิหร่านที่มีการเจรจาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่มีข้อตกลงกับกลุ่มประเทศ P5+1 ก็ตาม สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคที่109.28 - 112.08 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลและ 100.30 - 102.43เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมัน Mathura ประเทศอินเดียปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ(Crude Distillation Unit) 160,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 56 เป็นระยะเวลา 45 วัน และ Petroleum Association of Japan รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 56 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.21% คิดเป็น 274,000 บาร์เรลอยู่ที่ระดับ 12.14 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามปริมาณสำรองเบนซินในภูมิภาคอยู่ในระดับสูงโดยสิงค์โปร์รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 353,000บาร์เรลอยู่ที่ระดับ 11.67 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 เดือน และผู้ค้าคาดว่าโรงกลั่นของประเทศซาอุดีอาระเบีย Saudi Aramco Total Refining and Petrochemical Co. กำลังการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวันจะออกประมูลขายเบนซิน92 RON ในเดือน พ.ย. 56 จำนวน 3 เที่ยวเรือ ปริมาณรวมประมาณ 0.9 ล้านบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากอุปทานในตลาดลดลงจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมัน Chiba 220,000บาร์เรลต่อวันประเทศญี่ปุ่นส่งผลทำให้ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 56 และโรงกลั่น Kochi ในอินเดียมีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit) 100,000บาร์เรลต่อวันและหน่วยกลั่นดีเซล(Diesel Hydro Desulphurisation) เริ่มตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. 56 เป็นเวลา 25-30 วัน กอปรกับ Plattsรายงานจีนหยุดการส่งออกดีเซลเนื่องจากรัฐบาลยังไม่อนุมัติให้บริษัทน้ำมันดำเนินการส่งออกแม้ว่ารัฐบาลจีนได้กำหนดให้โควต้าปริมาณส่งออกแล้วก็ตาม นอกจากนี้อุปทานJet Fuel ในเอเชียเหนือตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นหันมาผลิต Kerosene เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงทำความร้อนในช่วงฤดูหนาวซึ่งปกติจะอยู่ในระดับสูงสุดในรอบปี (Peak Winter Demand) อย่างไรก็ตามปริมาณสำรอง Gas Oil เชิงพาณิชย์ของยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.2 % อยู่ที่ 15.5 ล้านบาร์เรล
โทร. 0 2537-2568 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทรสาร 0 2537-2171