นายกฯ สั่งกำชับแบ่งพื้นที่การปฏิบัติงาน กำหนดหน่วยรับผิดชอบหลัก พร้อมจัดโซนนิ่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Monday October 21, 2013 08:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 46 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัย สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการเป็นพิเศษ พร้อมกำชับแบ่งพื้นที่การปฏิบัติงาน โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่ชัดเจน อีกทั้งให้จังหวัดจัดโซนนิ่งพื้นที่น้ำท่วมและวางแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญ ได้เน้นย้ำให้การช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 46 จังหวัด 359 อำเภอ 2,265 ตำบล 18,437 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,137,666 ครัวเรือน 3,731,674 คน คิดเป็นร้อยละ 5.79 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บ้านเรือนเสียหาย 31,523 หลัง ถนน 5,967 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,577,078 ไร่ ปศุสัตว์ 4,145,224 ตัว ผู้เสียชีวิต 70 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด นยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด 95 อำเภอ 598 ตำบล 4,109 หมู่บ้าน 236,757 ครัวเรือน 704,952 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.09 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อพยพ 3,616 ครัวเรือน 7,466 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานีและสระบุรี แยกเป็น ระดับรุนแรง 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระดับปานกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น และพระนครศรีอยุธยา ระดับเล็กน้อย 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พิษณุโลก พิจิตร สระบุรี ลพบุรี และอ่างทอง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานการณ์ พบว่า อิทธิพลของพายุนารีส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยอยู่แล้วสถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างขึ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัย จึงได้สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เป็นพิเศษ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรม พร้อมเร่งระดมสูบน้ำจากพื้นที่ประสบภัยลงสู่แม่น้ำลำคลอง และดำเนินการผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่น้ำทะเลหนุน เพื่อให้การผลักดันน้ำมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้แบ่งพื้นที่การปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักให้ชัดเจน อีกทั้งให้จังหวัดจัดโซนนิ่งพื้นที่น้ำท่วมและวางแนวทางการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงและสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการปฏิบัติงานตามพื้นที่โซนนิ่งของจังหวัด นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดดูแล ให้การช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างในช่วงรอยต่อของสถานการณ์ พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่ครอบคลุมทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม ครอบคลุมทุกพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ