กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 46 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใย ผู้ประสบอุทกภัย สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มกำลังอย่างต่อเนื่อง สำรวจความเสียหายล่วงหน้า วางแนวทางการชดเชยเยียวยาครอบคลุมทุกด้าน เน้นย้ำไม่ให้ มีข้อจำกัดในการดูแลประชาชน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 46 จังหวัด 359 อำเภอ 2,269 ตำบล 18,468 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,154,805 ครัวเรือน 3,778,179 คน คิดเป็นร้อยละ 5.86 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บ้านเรือนเสียหาย 31,523 หลัง ถนน 5,967 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,594,617 ไร่ ปศุสัตว์ 4,145,224 ตัว ผู้เสียชีวิต 73 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด 92 อำเภอ 608 ตำบล 4,227 หมู่บ้าน 236,757 ครัวเรือน 704,952 คน คิดเป็น
ร้อยละ 1.09 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อพยพ 3,616 ครัวเรือน 7,466 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานีและสระบุรี
แยกเป็น ระดับรุนแรง 2 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระดับปานกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี นครนายก อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น และพระนครศรีอยุธยา ระดับเล็กน้อย 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พิษณุโลก พิจิตร สระบุรี ลพบุรี และอ่างทอง ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะยังมีฝนตกหนาแน่น และฝนตกหนักบางแห่งในระยะ 1 — 2 วันนี้ ประกอบกับช่วงวันที่ 20 - 24 ตุลาคม 2556 เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยผู้ประสบภัย สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหารให้การช่วยเหลือ ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมแบ่งพื้นที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักให้ชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งให้จังหวัด จัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและวางแนวทางการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงและสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการปฏิบัติงานตามพื้นที่โซนนิ่งของจังหวัด นอกจากนี้ ในส่วนของการเยียวยาผู้ประสบภัย ได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการตามหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติของกระทรวงการคลังฯ โดยให้สำรวจความเสียหายของพื้นที่ครอบคลุมทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ พื้นที่การเกษตรและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลางให้ส่วนราชการเกี่ยวข้องนำไปวางแผนการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ รัฐบาล โดยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนได้บูรณาการให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และวางแนวทาง การเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมทุกด้าน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการให้การความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จึงขอให้มั่นใจว่า “รัฐบาลไม่มีข้อจำกัดในการดูแลประชาชน ผู้ประสบภัยจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เป็นธรรม และครอบคลุมหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ”