กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ปภ.
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยมีข้อสั่งการเชิงนโยบายให้แบ่งมอบภารกิจการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมทุกด้าน พร้อมแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานให้ชัดเจน เพื่อบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกรูปแบบไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ย้ำให้เร่งสำรวจความเสียหายในทันที โดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ครอบคลุมตามหลักเกณฑ์และระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัยและติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีข้อสั่งการเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) การแบ่งมอบภารกิจการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ 1.ด้านการระบายน้ำ ให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ โดยผลักดันน้ำลงสู่ทะเล ให้ได้มากที่สุด 2.ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียและจัดหาน้ำดื่มสะอาด ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนอีเอ็มบอลแก่จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย 3.ด้านการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยทหารเร่งซ่อมแซมถนนและสะพานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้สามารถใช้งานได้ 4.ด้านการปิดล้อมพื้นที่สำคัญ ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยทหาร และจังหวัดจัดทำแนวกั้นน้ำป้องกันมิให้พื้นที่สำคัญได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ เขตชุมชน และเส้นทางคมนาคมสายหลัก 5.ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยทั้งที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือน ศูนย์พักพิงชั่วคราวและจุดอพยพ 6.ด้านการสำรวจความเสียหาย มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตร 7.ด้านสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย เพื่อป้องกันโรคระบาดในช่วงน้ำท่วม รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย 8.ด้านการช่วยเหลืออื่นๆ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย วางหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมการปฏิบัติงานทุกด้าน 2) การแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยให้ชัดเจน โดยให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมการทหารช่าง และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย บูรณาการการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยนำการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกรูปแบบครอบคลุมการดำเนินงานทั้ง 8 ด้าน ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้วางแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนและสภาพภูมิประเทศในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้ส่งเสริมอาชีพระยะสั้น พร้อมสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์ปลา เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เลี้ยงชีพในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย นายฉัตรชัย กล่าวถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยในทันที โดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อจัดทำฐานข้อมูลความเสียหาย แนวทางและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ โดยจัดทำเป็นประกาศจังหวัดในเขตพื้นที่ประสบภัย ซึ่งจะทำให้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเสียหายเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วถึง เป็นธรรม และครอบคลุมตามหลักเกณฑ์และระเบียบกระทรวงการคลังฯ