กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัย 46 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยพื้นที่ประสบอุทกภัยที่มีฝนตกหนักจากพายุนารี สั่งการกระทรวงมหาดไทยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการปกป้องพื้นที่สำคัญและเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำ ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้เน้นย้ำให้แบ่งมอบภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ควบคู่กับการแบ่งพื้นที่การปฏิบัติงานที่ชัดเจน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 46 จังหวัด 359 อำเภอ 2,258 ตำบล 18,398 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,136,336 ครัวเรือน 3,726,544 คน คิดเป็นร้อยละ 5.78 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บ้านเรือนเสียหาย 31,523 หลัง ถนน 5,967 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,577,078 ไร่ ปศุสัตว์ 4,145,224 ตัว ผู้เสียชีวิต 68 ราย จากการจมน้ำและพลัดตกน้ำ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด นยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด 93 อำเภอ 598 ตำบล 4,109 หมู่บ้าน 236,757 ครัวเรือน 674,952 คน คิดเป็นร้อยละ 1.05 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อพยพ 3,586 ครัวเรือน 7,376 คน ในจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี แยกเป็น ระดับรุนแรง 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระดับปานกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ นครนายก อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น และพระนครศรีอยุธยา ระดับเล็กน้อย 14 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พิษณุโลก พิจิตร สระบุรี ลพบุรี และอ่างทอง แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลายหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ น้ำทะเลหนุนสูง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุนารีปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงพื้นที่ประสบภัยที่มีฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุนารี ซึ่งฝนที่ตกลงมาเพิ่มในช่วงนี้ส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความล่าช้า สั่งการกระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและวัสดุอุปกรณ์พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดทำแนวกั้นน้ำปิดล้อมพื้นที่สำคัญ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้ได้มากที่สุด เสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยนำเรือผลักดันน้ำเข้าประจำพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้กำชับให้แบ่งมอบภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ควบคู่กับการแบ่งพื้นที่การปฏิบัติงานที่ชัดเจน โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักเป็นเจ้าภาพร่วมกับจังหวัดที่ประสบภัยบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อนำการช่วยเหลือทุกรูปแบบไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ประสบภัยอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1.ด้านการระบายน้ำ
2.การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย
3.การซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม
4.การป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ
5.การให้ความช่วยเหลือดูแลชีวิตและความปลอดภัยของผู้ประสบภัย
6.การสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคระบาดและดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย
7.ด้านการสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัย
8.ด้านการช่วยเหลืออื่นๆ วางหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบอุทกภัยในทันที โดยไม่ต้องรอสถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ