กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--วทท.
การประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31
วันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2548
ณ เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
รศ.ดร.สุรินทร์ เหล่าสุขสถิตย์ ประธานจัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 31 กล่าวถึง การประชุมที่จะจัดขึ้นว่า การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) เป็นการประชุมวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ การแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ มากมาย ที่สำคัญคือ วทท. เป็นกิจกรรมของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดขึ้นทุกปี จัดต่อเนื่องกันมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 31 แต่ละครั้งจะมีคนมาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้านนักวิชาการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ทั่วไป นักอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจทั่ว ไปเข้ามาร่วมรับฟังและชมนิทรรศการ ฟังการบรรยาย ร่วมซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ดังนั้น เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญให้นักวิชาการที่ทำวิจัย ได้มีโอกาสเสนอผลงาน ผลการวิจัยที่พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
ในขณะเดียวกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปพัฒนาทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการดำรงชีวิตของสังคม แต่ทั้งหมดนี้ คือ เราพยายามจะให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ดังนั้น การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสาขาวิชาการที่มีประมาณ 10 สาขา เป็นสาขาหลัก แต่เราจะพยายามขยายออกไปสู่สังคมในลักษณะที่เป็นเชิงประยุกต์ เชิงบูรณาการ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2548 นี้ มีการเพิ่มสาขาที่เป็นแบบเชิงบูรณาการ ทางด้านไคติน ไคโตซาน ซึ่งมีความสำคัญในการประยุกต์มากมาย และยังเพิ่มทางด้านการวิจัยไหม ซึ่งเป็นด้านที่มิใช่สาขาใดสาขาหนึ่ง แต่เป็นการบูรณการหลายสาขา ซึ่งเอาไปประยุกต์ใช้ได้ทันที
สำหรับ วทท. ครั้งที่ 31 นี้ เป็นงาน วทท. ที่ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีในวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่าเป็นบิดาของนักเทคโนโลยีของไทยในวันที่ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม จึงถือเป็นส่วนร่วมเทิดพระเกียรติในส่วนนี้ด้วย และอีกส่วนหนึ่งก็คือ เป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสทรงเจริญพระชนม์มายุ 50 พรรษา ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในโอกาสทรงเจริญพระชันษาครบ 4 รอบ ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทั้ง 3 โอกาสนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีของ วทท. ครั้งนี้
เนื่องจากนิมิตที่ดีนี้ คณะกรรมการดำเนินการประชุม วทท. ครั้งที่ 31 ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลไพร์ซ ถึง 2 ท่าน ท่านแรกได้แก่ ศาสตราจารย์ ซีนี เบรนเนอร์ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกท่านหนึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์ หยวน ทีลี ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขา เคมี ซึ่งทั้งสองท่านจะได้มาบรรยายนำในวันเปิดการประชุม วทท. ครั้งนี้ด้วย ณ อาคารเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
ในปีนี้ นอกจากจะมีการประชุม บรรยาย สัมมนาวิชาการแล้ว มีการจัดนิทรรศการทั้งทางด้านโครงงานทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นก็ยังมี การจัดโปรแกรมพิเศษสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และวิทยาศาสตร์ศึกษา การสัมมนาโครงการวิจัยยอดเยี่ยมของมูลนิธิบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(บวท.) วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน และการสัมมนาทางวิชาการทางด้านความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดว่าผู้ที่เข้าร่วมสัมมนา นอกจากจะได้รับความรู้แล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับสถาบันต่าง ๆ มากมาย ทั้งระดับรางวัลโนเบลและระดับครู อาจารย์ และกลุ่มนักอุตสาหกรรมครบถ้วนในงานเดียวกัน
ทุก ๆ ครั้งที่มีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา จะมีการรวบรวมในรูปของเอกสารการประชุมที่เป็นรูปเล่ม และแต่ละปีส่วนหนึ่งจะให้กับผู้เข้าร่วมประชุม อีกส่วนหนึ่งจะแจกให้กับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยเฉพาะใน 2 — 3 ครั้งหลัง ได้แจกไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล ในครั้งที่ผ่านมา วทท. ครั้งที่ 30 ได้จัดทำในรูปซีดีแจกด้วย สำหรับปีนี้ก็เช่นเดียวกัน จะรวบรวมในรูปซีดีแจกด้วย เพราะข้อมูลทั้งหมดมีมาก การบันทึกข้อมูลในรูปซีดีจะช่วยประหยัดในเรื่องเนื้อที่และสะดวกในการพกพา ส่วนในรูปของหนังสือก็ยังคงมีอยู่ แต่เป็นรูปเล่มที่กะทัดรัด
หนังสือรวบรวมผลการวิจัยนี้ถือเป็นแหล่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะทำการวิจัย สามารถจะติดตามดูความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยว่าไปถึงไหน และได้ทำเรื่องอะไรไปบ้าง และนักวิจัยจะต่อยอดตรงจุดไหน มีใครทำตรงไหนบ้าง และถ้ามีผู้ทำวิจัยไปแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ทำซ้ำไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน หากมีการทำบันทึกอย่างละเอียดในโครงการวิจัย ก็เท่ากับเป็นฐานความรู้ให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นครู อาจารย์ นักเรียน ที่ขอมาก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มีโอกาสในการชมผลงานวิจัยและศึกษาเรียนรู้ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่สถาบันหรือมหาวิทยาลัย ได้คิดค้นวิจัยไปไกลแค่ไหน อันไหนที่สามารถนำไปประยุกต์เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง
ในทางอุตสาหกรรมนั้น มองในแง่ปฏิบัติ ส่วนงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อาจมองว่าจะเข้าไปช่วยเสริมตรงไหนบ้างในความเป็นจริงแล้วเจาะลึกทำวิจัยลงไปได้บางอย่าง พอวิจัยออกมาแล้วทางอุตสาหกรรมมีปัญหาอะไรปลีกย่อยต่าง ๆ อีกมาก เมื่อมาอ่านผลการวิจัยตรงนี้ ก็สามารถทำให้เข้าใจปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ว่าเป็นเพราะอะไร บางครั้งอาจจนำไปใช้ได้โดยไม่รู้ตัว บางกรณีไม่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นส่วนๆ ตามความเหมาะสม บางส่วนจะเห็นว่ามันคนละเรื่องกัน บางส่วนนำไปใช้ได้ทันทีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าการทำงานหรือการผลิตในลักษณะหมู่บ้านหรือในชนบทนี้ เป็นการทำในลักษณะสืบต่อกันมา บางครั้งมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว แต่ยังไม่เป็นระบบขาดการอธิบาย เมื่อนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเป็นตัวจับ เข้าไปอธิบายให้เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบ เป็นลักษณะในเชิงวิชาการได้ดีจะช่วยได้มาก ส่งผลให้การผลิตต่าง ๆ เพิ่มปริมาณและมีคุณภาพมากขึ้น มีการพัฒนาดีขึ้น เชื่อว่าบางครั้งการทำงานการผลิตบางครั้งดูช้าเหลือเกินก็เพราะไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาใช้อย่างจริงจัง การนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยจะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้นประหยัดเวลาและพลังงานจึงคุ้มค่ายิ่งขึ้น
การประชุมวิชาการ วทท. ครั้งที่ 31 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หมายความว่า เพื่อต้องการให้พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ แล้วนำเอาไปพัฒนางานการผลิตของประเทศไม่ว่าการผลิตทุกรูปแบบใด เช่น การเรียนการสอนถือเป็นการผลิตเช่นกัน เป็นบุคลากรการผลิตอย่างหนึ่ง ฉะนั้นก็หมายความว่า ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดและเริ่มต้นใหม่ ทำต่อยอดกันไปเรื่อยๆ
การจัดงานประชุม วทท. เป็นโอกาสสำคัญที่ได้พบเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่ไปในการประชุมสิ่งหนึ่งที่จะได้ก็คือ ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นการกระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บางคนพอไปเห็นอะไรบางอย่าง เกิดมีความคิด มีแรงบันดาลใจ ถูกกระตุ้น เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับขาดอะไรบางอย่างทำให้เกิดการเฉื่อยในบางอย่าง พอมาดูคนอื่นวิจัยทำให้เกิดแรงใจ ทำให้มีพลังใจคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เคยรู้สึกว่าไม่อยากจะทำแล้ว เป็นการจุดประกายให้มีโอกาสทำอย่างต่อเนื่องไปแล้วก็มาเริ่มใหม่ พอเห็นตัวอย่างหนึ่งก็อยากจะเริ่มอย่างเขาบ้าง เห็นคนนั้นคนนี้ทำสำเร็จก็อยากจะทำบ้าง มีจิตใจฮึกเหิม อยากจะทำบ้าง เพราะทุกคนมีความคิด มีความสามารถแต่โอกาสอาจจะต่างกัน ถ้ามีโอกาสมาเห็นเขาอาจจะสร้างโอกาสขึ้นมาได้ หรืออย่างน้อยที่สุด เมื่อมาเห็นงานวิจัยของคนอื่นเข้า อาจจะเกิดแนวคิดนำไปสร้างโอกาสขึ้นมาได้ อย่างน้อยที่สุดไปสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว มีการรวมกลุ่มนักวิจัย และถ้ามีโอกาสร่วมมือกันทำวิจัย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเดียวกัน หรือต่างมหาวิทยาลัย ร่วมมือเป็นเครือข่ายวิจัยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม อันนี้บางท่านตอนแรกทำด้วยใจรัก ทำด้วยความสนใจ แต่ผลที่ตามมาอาจได้ในสิ่งที่เป็นผลสำเร็จที่น่าทึ่งและเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้--จบ--