กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--TCELS
TCELS ร่วมงาน BioJapan 2013 ระบุต่างชาติสนใจโครงการหุ่นยนต์การแพทย์และเซลล์บำบัด พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคต ด้านญี่ปุ่นเล็งไทย-ไต้หวัน แกนนำพัฒนายาในระดับเอเซีย ตั้งเป้าภายในปี 2020 เตรียมเสนอรวมกลุ่มจัดงานประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เทียบชั้นยักษ์ใหญ่ ไบโอสหรัฐฯ มั่นใจศักยภาพถึง
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา TCELS ได้เข้าร่วมงานประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หรือ BioJapan 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยปีนี้ TCELS เข้าร่วมงานในรูปแบบของการจัดบูธนิทรรศการ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ห้างหุ้นส่วนจำกัดวานิไทย บริษัทแปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด ฯลฯ โดยนำเสนอผลงานเด่นคือ โครงการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ และโครงการเซรั่มน้ำยางพารา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของของความร่วมมือพัฒนายา วัคซีน และชุดทดสอบต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการเซลล์บำบัด ที่เน้นเรื่องการรักษาโรคเฉพาะบุคคล โครงการหุ่นยนต์ทางแพทย์ ที่ได้มีการเจรจาเพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจในอนาคตด้วย
ผอ.TCELS กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนยังได้เข้าร่วมประชุม APAC (The Asia Partnership Conference of Pharmaceutical Association ) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้น โดย JPMA (Japan Pharmaceutical Manufacturers Association) เป็นแกนหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยาของเอเซีย และสร้างอำนาจต่อรองเพื่อคานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรปและอเมริกา โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือพัฒนายา เพื่อให้ได้ยาที่พัฒนาโดยเอเชีย ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายในงาน BioJapan อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความพยายามระดับภูมิภาคเอเชีย และผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมมาจากหลายประเทศ เช่น เกาหลี ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ญี่ปุ่นมุ่งเป้าบางประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไต้หวันและไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา Roadmap เพื่อไปสู่เป้าหมายภายในปี 2020
“ญี่ปุ่นสนใจประเทศไทยมาก ก่อนหน้านี้ก็ได้ส่งผู้แทนจาก JPMA มาสำรวจประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว และในปีนี้ก็เตรียมตัวมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่ง TCELS ก็จะเป็นเจ้าภาพหลักในประสานงานให้เกิดการประชุม Business Forum โดยเชิญเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าหารือด้วย” ผอ. TCELS กล่าว
ดร.นเรศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้เสนอความเห็นว่า ขณะนี้หลายประเทศจัดงานประชุมไบโอ แต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ หากรวมกลุ่มกันและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพในการจัดงานไปในแต่ละประเทศ จะเป็นงานประชุมด้านไบโอ ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานไบโอสหรัฐอเมริกา ที่ครองแชมป์การประชุมนานาชาติด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้โดยศักยภาพของกลุ่มประเทศเอเซียแล้ว ก็มีความพร้อมไม่แพ้กัน เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้