กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--พม.
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ประจำปี ๒๕๕๖ และการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๒ เรื่อง “การสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน : การพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือทางสังคมสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก” และพิธีประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครดีเด่น องค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่นแห่งชาติ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๘ และวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนด ให้วันที่ ๒๑ ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จึงกำหนดให้มี การจัดงานเนื่องในโอกาสดังกล่าวเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในงานด้านสวัสดิการสังคม สังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาสังคม พร้อมทั้งได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนอาสาสมัครได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นประจำทุกปี
นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า การสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบบริการทางสังคมโดยให้หลักประกันขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล และการศึกษา การจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ในการพัฒนาระบบประกันสังคมสามารถขยายหลักประกันทางสังคม ที่ครอบคลุมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการพัฒนาระบบการออมแห่งชาติโดยนำไปบรรจุไว้ในระบบการประกันสังคม สำหรับการประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๒ ในหัวข้อ “การสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้แก่คนไทยทุกคน : การพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือทางสังคมสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก” นับเป็นอีกระบบหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นระบบที่เข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมายผู้ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมายังทำได้ในวงจำกัด และจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในเรื่องระบบทะเบียนข้อมูล การตรวจสอบว่าเป็นผู้ที่เดือดร้อนและสมควรได้รับการช่วยเหลือจริง ความเพียงพอในการช่วยเหลือเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งการนำเอาเรื่องการจัดการรายกรณี Case Management มาใช้ในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เห็นความสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC สายด่วน ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือแก่เด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ที่ถูกกระทำความรุนแรง การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะทำให้รูปแบบการช่วยเหลือทางสังคมสามารถครอบคลุมกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับงานอาสาสมัครนั้น มีอยู่คู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีส่วนสำคัญในการช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ รัฐบาลถือว่าอาสาสมัครเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เราได้สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลก สามารถนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองด้วยดีเสมอมา และการนำเสนอแนวทางการจัดตั้งสถาบันการจัดการงานอาสาสมัครและศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร จะทำให้การพัฒนางานอาสาสมัครของประเทศไทยประสบความสำเร็จ และยังประโยชน์ทั้งต่อตัวอาสาสมัคร ผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร และสังคมประเทศชาติโดยส่วนรวม