บีโอไอออกมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทย และมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 24, 2013 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--บีโอไอ บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอีไทย ครอบคลุมกิจการ 39 ประเภท โดยจะต้องเป็นบริษัทที่มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท และยื่นขอรับส่งเสริมภายในเดือนธันวาคม 2557 หากได้รับส่งเสริมจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร นอกจากนี้บีโอไอยังออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการอยู่แล้วปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุมในวันนี้ (7 ตุลาคม 2556) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประกอบด้วย 2 มาตรการได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่เอสเอ็มอี และมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยภายใต้ 2 มาตรการนี้ จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอี มีเงื่อนไขหลักได้แก่ ต้องมีขนาดการลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ต้องถือหุ้นโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และเมื่อรวมกิจการทั้งหมดทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องมีสินทรัพย์ถาวรสุทธิหรือขนาดลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ทั้งนี้ กิจการที่เปิดให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอี จะครอบคลุมกิจการ 39 ประเภท ซึ่งกระจายอยู่ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการที่เพิ่มมูลค่าแก่สินค้า ภาคเกษตรกรรม รวมจำนวน 13 ประเภทกิจการ อาทิ การขยายพันธุ์พืชและสัตว์ การผลิตปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น 2. กลุ่มกิจการที่ใช้ทักษะการผลิตและเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สำคัญ 16 ประเภท เช่น การผลิตเครื่องจักร ชิ้นส่วนยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งพิมพ์ 3. กลุ่มกิจการเชิงสร้างสรรค์ 7 ประเภท เช่น ผ้า เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งประดิษฐ์ เครื่องเรือน ซอฟต์แวร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ 4. กลุ่มกิจการบริการและสนับสนุนการท่องเที่ยว 3 ประเภท ได้แก่ โรงแรม ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมฯ การสร้างภาพยนตร์ไทยหรือให้บริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ กิจการเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิและประโยชน์ ดังนี้ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรไม่ว่าตั้งอยู่ในเขตใด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่ว่าตั้งอยู่ในเขตใด เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) นายประเสริฐกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยกิจการที่ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้ ต้องเป็นกิจการเอสเอ็มอีที่ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่แล้วและกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริม โดยจะต้องเสนอแผนการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เช่น การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตที่มีอยู่เดิม เป็นต้น กิจการเอสเอ็มอีที่ได้รับส่งเสริมจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรไม่ว่าตั้งกิจการในเขตใด และได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม และกิจการที่ได้รับส่งเสริมจะต้องไม่ใช้สิทธิและประโยชน์ซ้ำซ้อนกับมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรของกรมสรรพากร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ