กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
- เครื่องบินแบบทางเดินเดียวจะเป็นผู้นำในตลาด
- สายการบินต้นทุนต่ำจะยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไป
- แผนพัฒนาเครื่องบินใหม่คืบหน้าตามกำหนด
โบอิ้งคาดจำนวนฝูงบินเครื่องบินพาณิชน์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะโตเป็น 3 เท่าของปัจจุบัน โดยจะมีความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ใหม่ทั้งสิ้นประมาณ 3,080 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450,000 ล้านดอลล่าร์หรือประมาณ 13,950,000 ล้านบาท
มร. แรนดี ทินเซ็ธ รองประธานฝ่ายการตลาด โบอิ้ง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลน เปิดเผยถึงรายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า “ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากที่สุดของโลก ในอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก และทำให้มีปริมาณผู้เดินทางทางอากาศมากขึ้นทั้งเพื่อการติดต่อธุรกิจและการท่องเที่ยว”
จากการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ในอีก 20 ปีข้างหน้า สามารถแบ่งประเภทเครื่องบินได้ดังนี้
จำนวนเครื่องบินใหม่ที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่าง 2556- 2575
ชนิด จำนวน มูลค่า
เครื่องบินแบบทางเดินเดียว 2,160 210,000 ล้านดอลล่าร์ (6,510,000 ล้านบาท)
เครื่องบินเล็กและกลางแบบ 2 ทางเดิน 780 220,000 ล้านดอลล่าร์ (6,820,000 ล้านบาท)
เครื่องบินขนาดใหญ่แบบ 2 ทางเดิน 50 20,000 ล้านดอลล่าร์ (620,000 ล้านบาท)
สายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องการเครื่องบินแบบทางเดินเดียวมากที่สุด เช่น โบอิ้ง 737 รุ่นใหม่ และ 737 MAXรุ่นล่าสุด ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของปริมาณเครื่องบินทั้งหมด เครื่องบินแบบนี้ได้รับความนิยมมากในหมู่สายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคนี้ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
“สายการบินต้นทุนต่ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับปี 2545 สายการบินเหล่านี้ยังไม่เกิด แต่ในปี 2555 ที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำมีสัดส่วนมากถึง 22% ในตลาดรวมของภูมิภาค และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 42% ในปี 2575” มร.ทินเซ็ธกล่าว
เครื่องบินขนาดเล็กและขนาดกลางแบบ 2 ทางเดิน เช่น โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์และ 777-300ER (EXTENDED RANGE)เป็นเครื่องบินที่อยู่ในความต้องการมากที่สุด โดยมีมูลค่าคิดเป็น 25% ของมูลค่าเครื่องบินใหม่ทั้งหมด สำหรับในประเทศไทย การบินไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินในกลุ่มนี้ด้วย เช่น โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ และจะรับมอบในปี 2557
นอกจากนี้ โบอิ้งคาดว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องการเครื่องบินขนาดใหญ่แบบ 2 ทางเดิน 400 ที่นั่งเช่น โบอิ้ง 747-8 Intercontinentalรวมประมาณ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านดอลล่าร์ หรือ ประมาณ 620,000 ล้านบาท
เครื่องบินโบอิ้ง
มร. ทินเซ็ธ กล่าวว่า การพัฒนาเครื่องบินโบอิ้งรุ่นต่างๆ เป็นไปตามกำหนด โดยในปัจจุบัน มีสายการบิน 16 แห่งที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ทำการบินอยู่รวมทั้งสิ้น 95 ลำในเมืองต่างๆ 103 เมืองทั่วโลก
“สายการบินที่เป็นลูกค้าของเราพอใจกับ 787 ดรีมไลเนอร์มาก เนื่องจากสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้ถึง 20% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันก็ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น” มร. ทินเซ็ธกล่าว
ล่าสุด โบอิ้งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการนำเครื่องบินน้องใหม่ 787-9 ขึ้นทำการบินครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้ตามกำหนดในช่วงกลางปี 2557
สำหรับเครื่องบินแบบทางเดินเดียว โบอิ้งสามารถสรุปการกำหนดค่าของเครื่องรุ่น 737 MAXเรียบร้อยแล้วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะนำขึ้นบินเป็นครั้งแรกได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2560
ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลก
นับตั้งแต่ได้มีการนำเครื่องบินเจ็ทมาใช้อย่างแพร่หลาย โบอิ้งได้จัดทำและเผยแพร่รายงานการคาดการณ์ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 รายงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นรายงานการคาดการณ์ภาวะตลาดเครื่องบินพาณิชย์ที่มีการจัดทำอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด และเป็นการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบินที่ครบถ้วนที่สุดด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
เอกภพ พันธุรัตน์ โทร.0 2205 6639
หรือเรียกดูเว็บไซต์: http://www.boeing.com/cmo