กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร (Vertical Integration) รวมถึงการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวทั่วโลก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหารรวมทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของอุตสาหกรรมด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนอุปทานส่วนเกินของกรดเทอเรฟธาลลิกบริสุทธิ์ (Purified Terephthalic Acid — PTA) และโพลีเอธิลีน เทอเรฟธาลเลท (Polyethylene Terephthalate — PET) จากกำลังการผลิตใหม่และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของบริษัท ซึ่งการก่อหนี้เพื่อการลงทุนอาจลดทอนฐานะการเงินของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน และบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด รวมถึงรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้เพื่อจะช่วยบรรเทาความผันผวนที่เกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 โดยกลุ่มตระกูลโลเฮีย (Lohia) ภายใต้ชื่อเดิมคือ บริษัท บีคอน โกลโบล จำกัด ในฐานะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 และปัจจุบันกลุ่มตระกูลโลเฮียมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 66.4% บริษัทลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย การผลิตโมโนเอธิลลีนไกลคอล (Mono Ethylene Glycol — MEG) PTA และ PET รวมทั้งผลิตเส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 6.77 ล้านตันต่อปี ซึ่งประกอบด้วยกำลังการผลิตเทียบเท่า MEG ขนาด 0.55 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิต PTA ขนาด 1.76 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิต PET ขนาด 3.67 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตเทียบเท่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ 0.80 ล้านตันต่อปี สำหรับห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์นั้นมี PTA และ MEG เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ โดย PET มีการใช้อย่างกว้างขวางในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ในครัวเรือน เวชภัณฑ์ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในขณะที่เส้นใยและเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์นั้นใช้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำหลายประเภท ได้แก่ เครื่องแต่งกาย สิ่งทอที่ใช้ภายในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เส้นใยที่ไม่ทอ สิ่งทอชนิดพิเศษ และอุตสาหกรรมยานยนต์
ปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตกระจายอยู่ใน 15 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป (เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอาฟริกา) ความสำเร็จในการขยายธุรกิจของบริษัทส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างโดยซื้อได้ในราคาต่ำ รวมทั้งความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ นอกจากนี้ การมีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคที่สำคัญยังช่วยให้บริษัทเข้าถึงฐานลูกค้าได้ทั่วโลกด้วย ส่งผลให้บริษัทสามารถคงอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับสูง การควบคุมปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นผลมาจากการมีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเองจากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร รวมถึงการมีโรงงานที่ใช้พื้นที่ร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบรายสำคัญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าในตลาดที่สำคัญด้วย เช่น อเมริกาเหนือและยุโรป รูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มีการผลิตครบวงจร ตลอดจนการมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาความเสี่ยงของภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่จากประเทศจีนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นจะสร้างความกังวลต่อภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในระยะใกล้
สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะขาลงของอุตสาหกรรมห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ แต่แนวโน้มคาดว่าจะดีขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากโรงงานที่มีต้นทุนสูงจะปิดตัวลงซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์และอุปทานกลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 บริษัทมีรายได้ 112,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงจาก 5.7% ในปี 2555 เหลือ 4.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เนื่องจากอัตรากำไรในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจ PTA ในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน นอกจากนี้ โรงงานผลิต MEG ของบริษัทก็หยุดเพื่อทำการซ่อมบำรุงเกือบ 2 เดือน ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่มีอัตรากำไรสูงที่สุดของบริษัท อัตรากำไรของบริษัทในรูปของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อตันของการผลิตลดลงจาก 86 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2555 เหลือ 73 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินสำหรับ PTA ในภูมิภาคเอเชียและจากวิกฤตเศรษฐกิจในทวีปยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 4,526 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.2 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2556
การลงทุนในช่วงปี 2554 ถึงครึ่งแรกของปี 2555 ส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 32,068 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 81,515 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งรวมถึงเงินกู้เพื่อการลงทุนและเงินกู้ของบริษัทที่มีการควบรวมกิจการเข้ามาและเงินกู้สำหรับหมุนเวียนในกิจการ ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มจาก 49.9% ณ สิ้นปี 2553 เป็น 58.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 บริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตสำหรับโครงการเดิมตามแผนซึ่งรวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต PET ในประเทศสหรัฐอเมริกา (โครงการ Alphapet 2) โดยบริษัทวางงบประมาณสำหรับการลงทุนเหล่านี้ประมาณ 18,000 ล้านบาทในช่วงปี 2556-2559 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 ล้านตัน ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม บริษัทสนใจที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value Added) เข้ามาในกลุ่มธุรกิจด้วย ดังนั้น บริษัทจึงมีโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนใหม่จะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่าในระยะปานกลาง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า 0.8 เท่า ส่วนสภาพคล่องนั้นคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานมากกว่า 11,000 ล้านบาทในปี 2557 หลังจากที่กำลังการผลิตส่วนขยายใหม่ ๆ ดำเนินงานได้เต็มปี ซึ่งระดับเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับดังกล่าวยังคงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยบริษัทมีภาระหนี้ครบกำหนดในปี 2557 ประมาณ 7,000 ล้านบาท และในปี 2558 อีกประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
IVL16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
IVL16OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,690 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
IVL174A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
IVL174B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
IVL186A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 98 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,302 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL18DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 780 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
IVL194A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+
IVL206A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 520 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
IVL20DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 880 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
IVL21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 37 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
IVL21OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,163 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
IVL224A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,250.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL224B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,649.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL22DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,645 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
IVL236A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
IVL24DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,475 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable