การศึกษาวิจัยเรื่อง "Review of Asset Management in Thailand"

ข่าวทั่วไป Monday July 12, 1999 08:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--12 ก.ค.--กลต.
ด้วยสำนักงานได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจการลงทุนซึ่งจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคต สำนักงานจึงได้ขอคำแนะนำจาก International Finance Corporation (IFC) และได้รับการสนับสนุนจาก IFC ในการว่าจ้างบริษัท Cadogan Financial จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับธุรกิจจัดการลงทุนในประเทศไทย
ในการนี้ Cadogan Financial ได้จัดทำบทศึกษาเบื้องต้นในเรื่องดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วและพบว่าโดยภาพรวมกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับธุรกิจจัดการลงทุนในประเทศไทยไทยในปัจจุบันมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่กำหนดโดย International Organization of Securities Commissions (IOSCO) แล้ว โดย Cadogan Financial ได้เสนอแนะประเด็นที่ควรต้องปรับบปรุงแก้ไขเพิ่มเติมบางประการ อย่างไรก็ดีสำหรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นธุรกิจการจัดการลงทุนประเภทหนึ่งนั้น Cadogan Financial มีความเห็นว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอีกมาก เช่น ยังไม่มีการกำหนดให้มีผู้รับฝากทรัพย์สิน ไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังไม่มีความเหมาะสมและชัดเจน และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่เพียงพอ เป็นต้น
ทั้งนี้ Cadogan Financial ได้ให้ข้ดเสนอแนะสำคัญ ๆ ที่ควรแก้ไขปรับปรุงทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สรุปได้ดังนี้
1. กำหนดบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจจัดการลงทุน เ ช่น บทบาทของสำนักงาน สมาคมบริษัทจัดการลงทุนผู้จัดการกองทุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และผู้สอบบัญชี เป็นต้น
2. ทบทวนนโยบายในการแก้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน โดยพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดเสรีที่จะให้ใบอนุญาตดังกล่าว และเน้นการพิจารณาในเรื่องความพร้อมในการประกอบธุรกิจ (fit and proper) เป็นหลัก การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้รับฝากทรัพย์สิน ตลอดจนการขึ้นทะเบียนตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนทุกราย
3. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สอดคล้องกับแนวทางที่ใช้ในการกำกับดูแลการจัดการกองทุนรวม เช่น การกำหนดให้มีผู้รับฝากทรัพย์สิน การแก้ไขโครงสร้าง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนกรอบการลงทุนที่เหมาะสม เป็นต้น
4. ปรับปรุงแนวทางการกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงาน (working capital) ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก และเงินทุนเพื่อรองรับความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น (prudential capital requirement) ซึ่งอาจกำหนดเป็นสัดส่วนกับจำนวนเงินที่รับจัดการหรือบริหาร ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไม่ควรมีการลงทุนเพื่อตนเอง (investment portfolio) เนื่องจากอาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้
5. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน มาตรฐานบัญชี และการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสื่อความหมายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเน้นการเปิดเผยค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ ให้ละเอียดยิ่งขึ้น
6. ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลในเรื่องเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่ายหน่วยลงทุน วิธีการขาย และการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุน
7. ทบทวนแนวนโยบายในการกำกับดูแลธุรกิจจัดการลงทุนในบางเรื่อง เช่น การศึกษาความเหมาะสมในการอนุญาตให้กองทุนรวมต่างประเทศเสนอขายหน่วยลงทุนในประเทศไทย หรือการอนุญาตให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ การอนุญาตให้กองทุนรวมกู้ยืมเงิน และการใช้สิทธิออกเสียงของผู้จัดการกองทุน เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้บทศึกษาดังกล่าวมีความครบถ้วนถูกต้องและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุนในประเทศไทย สำนักงานจึงได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว ในวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2542 โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจาอสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ชมรมคัสโตเดียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยสำนักงานจะได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเฏณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูและพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุนต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ